กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ที่ 'A(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ผู้นำในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ – BTSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนแบบรางของประเทศไทย บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งมีเส้นทางครอบคลุมศูนย์กลางทางธุรกิจและการค้าในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สุขุมวิท สีลม และสาทร รถไฟฟ้าบีทีเอสรองรับผู้โดยสารกว่าร้อยละ 70 ของผู้โดยสารทั้งหมดในระบบขนส่งมวลชนแบบรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในปี 2558 ธุรกิจขนส่งมวลชนของบริษัทฯ ณ ปัจจุบันสามารถสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและมีความเสี่ยงต่ำ
ธุรกิจสื่อโฆษณาที่แข็งแกร่ง –บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) (VGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BTSC ซึ่ง BTSC ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 เป็นผู้ดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณา โดย VGI สามารถสร้างกระแสเงินสดและจ่ายเงินปันผลในสัดส่วนที่สูงให้แก่ BTSC โดยธุรกิจสื่อโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าบีทีเอสและสื่ออื่นๆ ของ VGI น่าจะยังคงสร้างผลกำไรและกระแสเงินสดในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า ศักยภาพของธุรกิจสื่อโฆษณาของ VGI ได้รับการสนับสนุนจากการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารและการขยายเส้นทางการเดินรถของเครือข่ายขนส่งมวลชนแบบรางในเขตกรุงเทพมหานคร สื่อโฆษณาของ VGI มีความเป็นเอกลักษณ์ในการเสนอพื้นที่โฆษณาในหลายรูปแบบ ทั้งในระบบขนส่งมวลชน อาคารสำนักงาน และสื่อโฆษณากลางแจ้งจำพวกป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมถึงสื่อโฆษณาในสนามบินและตัวเครื่องบิน โดยทั่วไปแล้ว สื่อโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าซึ่งมีความผันผวนของรายได้ที่ต่ำน่าจะช่วยลดผลกระทบจากสภาวะอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาของประเทศไทยที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในช่วงหนึ่งปีข้างหน้านี้
กระแสเงินสดที่มั่นคง – ธุรกิจขนส่งมวลชนและสื่อโฆษณาของ BTSC (ไม่รวมเส้นทางการเดินรถสายใหม่) เป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดได้สูงและมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ต่ำ โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ ณ ปัจจุบันน่าจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนขยายเส้นทางการเดินรถสายใหม่ในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า โดยฟิทช์คาดว่า BTSC จะสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Fund Flow from Operation – FFO) ที่ประมาณ 1.7-2.0 พันล้านบาทต่อปี ในช่วงสามปีข้างหน้า โดยรวมถึงเงินปันผลรับจาก VGI
เงินลงทุนที่สูงขึ้น แต่อัตราส่วนหนี้สินยังคงต่ำ – เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงขึ้นในการลงทุนขยายเส้นทางการเดินรถสายใหม่ ฟิทช์คาดว่า BTSC จะมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow – FCF) ติดลบในช่วงสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่า BTSC น่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.0 เท่า ในช่วงระยะเวลาที่มีการใช้เงินลงทุน (ณ ธันวาคม 2558: บริษัทฯ มีเงินสดมากกว่าหนี้สิน)
อันดับเครดิตถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของบริษัทแม่ – สถานะทางธุรกิจและทางการเงินที่แข็งแกร่งของ BTSC สอดคล้องกับอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Rating) ที่ 'AA-(tha)' อย่างไรก็ตาม ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของบริษัทแม่ คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS Group ต่ำกว่า BTSC ที่ 'A(tha)' จากการที่บริษัทแม่และบริษัทลูกมีความสัมพันธ์ที่สูงทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านกลยุทธ์ อันดับเครดิตของ BTSC จึงถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของ BTS Group ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์เรื่องความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก ความสัมพันธ์ที่สูงแสดงให้เห็นได้จากการที่ BTS Group และ BTSC มีผู้บริหารกลุ่มเดียวกัน และ BTS Group มีอำนาจควบคุมนโยบายในการดำเนินธุรกิจและการเงินของ BTSC
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้ลดลงในปีงบการเงินสิ้นสุด 31 มีนาคม 2559 (ปีงบการเงิน 2559) ซึ่งเป็นผลจากการยกเลิกธุรกิจสื่อโฆษณาในห้างค้าปลีก; รายได้กลับมาเติบโตในปีงบการเงิน 2560 เป็นต้นไป
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 ในปีงบการเงิน 2559 เนื่องจากการยกเลิกธุรกิจสื่อโฆษณาในห้างค้าปลีกซึ่งมีอัตราส่วนกำไรต่ำ และลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 40-45 ในปีงบการเงิน 2560 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรวมงบการเงินของ บริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอัตราส่วนกำไรที่ต่ำกว่า
- ธุรกิจขนส่งมวลชนของบริษัทฯ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 5.8 พันล้านบาท ในช่วงปีงบการเงิน 2559-2561 ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการลงทุนขยายเส้นทางการเดินรถสายใหม่
- จ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง ในปีงบการเงิน 2559 และ 2560
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ BTS Group
ปัจจัยลบ:
- การปรับลดอันดับเครดิตของ BTS Group