กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 31 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดสำรวจและตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุนในระดับหมู่บ้านทุกแห่ง หากพื้นที่ใดมีปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ให้เร่งพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดินให้มีปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำอย่างเพียงพอพร้อมสำรวจภาชนะกักเก็บน้ำกลางประจำหมู่บ้าน กำหนดวงรอบการจ่ายน้ำประจำหมู่บ้านให้สอดคล้องกับการใช้น้ำของประชาชน ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 31 จังหวัด198 อำเภอ 982 ตำบล 7,876 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 10.51 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 11 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และจันทบุรี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภค บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 12 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี สระแก้ว และขอนแก่น รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยดำเนินการสำรวจและตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุนในระดับหมู่บ้านทุกแห่ง เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนการใช้น้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอจนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 หากพื้นที่ใดมีปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ให้บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งผิวดินและใต้ดิน พร้อมประสานเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการสนับสนุนการจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยแล้ง รวมถึงกำหนดจุดจ่ายน้ำรวมของหมู่บ้าน สำหรับเป็นจุดรองรับน้ำกลางให้ประชาชนอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ สำหรับจังหวัดที่มีสาขาของการประปาส่วนภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการรองรับ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปริมาณน้ำดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา รวมถึงจัดวงรอบการนำน้ำไปแจกจ่ายยังจุดจ่ายน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้สอดคล้องกับการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างคุ้มค่า
นายฉัตรชัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยทหารแจกจ่ายน้ำแก่ผู้ประสบภัยแล้งโดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เข้าพื้นที่การเกษตร 46,492,629 ลูกบาศก์เมตร สูบน้ำดิบเข้าระบบการผลิตน้ำประปา 6,511,992,000 ลิตรแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 260,862,284 ลิตร ผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายแก่ประชาชนกว่า 1,104,000 ลิตร พร้อมปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเกษตรกรควรติดตามพยากรณ์อากาศจากรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ รวมทั้งป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ จะช่วยให้มีน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th