กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
นักศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อการสื่อสาร จาก 11 มหาวิทยาลัย 14 คณะ ชู 19 ผลงาน ย้ำจุดยืนเรียนรู้โจทย์จริงของสังคม ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ Thai Strong Teens (วัยรุ่นไทยเข้มแข็ง) สะท้อน 2 โจทย์ใกล้ตัว "ทรัพยากร" และ "การเรียนรู้" กระตุกให้ "คนเมือง" ตระหนักและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม
สสส. ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สภาคณบดีศิลปศาสตร์แห่งประเทศไทย ภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานของนักศึกษาด้านศิลปะการออกแบบเพื่อการสื่อสาร เรียนรู้โจทย์จริงของสังคมในเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change : UNC) ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมที่น่าอยู่ ปี3 ภายใต้ชื่องาน Thai Strong Teens (วัยรุ่นไทยเข้มแข็ง) มีนักศึกษาจาก 11 มหาวิทยาลัย 14คณะ นำ 19 ผลงานมาจัดแสดง ณ โซนสกายล็อบบี้ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ว่าด้วยเรื่องของ "ป่า"
นักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กับผลงานชื่อBrand Khunan กับข้อมูลที่พบป่าขุนน่านเป็นต้นน้ำสายหลักที่ส่งไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 45 เปอร์เซนต์ จึงต้องการสื่อให้กับ "คนเมือง" ตระหนักถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำและร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟู ผ่านการนำเสนอการสร้างอัตลักษณ์ให้ชาวขุนน่านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คนเมืองได้ตระหนัก ผ่านแบรนด์ และโฆษณาทีวี ตามมาด้วยผลงานที่น่าสนใจ ชื่อรายการเสือเล่าเช้านี้ (เสียงสะท้อนจากผืนป่าตะวันตก) จากสาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย นำเสนอในรูปแบบของ TV Scoop ล้อเลียนรายการเรื่องเล่าเช้านี้ โดยมีเสือและกวางเป็นผู้รายงานข่าวของมนุษย์ที่ทำลายธรรมชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของความรักป่า เสริมสร้างความรู้ให้กับคนเมืองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่สามารถส่งผลกระทบต่อตัวพวกเขาได้ นางสาวกชรัตน์ วิชิตนาค จากม.บูรพา ได้สะท้อนความคิดเห็นว่า "...การได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่จ.น่าน ทำให้หนูได้คำตอบว่า การใช้ทรัพยากร การจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ไม่สามารถปล่อยปละละเลยได้เลย ถ้าเราจัดการไม่ได้ จะมีปัญหาตามมา "เรา" หมายถึง "ทุกคน" ที่ต้องกินต้องใช้ เราต้องหยุดคิดนิดหนึ่งว่า น้ำที่เราใช้ไปได้ประโยชน์มากพอไหม ไม้ที่เราไปตัด เราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าไหม…"
ว่าด้วยเรื่อง "เขื่อน"
เริ่มที่ผลงานชื่อ "For Rest's Life" ของสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ที่นักศึกษามาร่วมผลิตผลงานกันทั้งชั้นเรียน จำนวน 50 คน ได้จัดทำแคมเปญ ?#ForRestsLIFE และเชิญชวนให้คนไทยมาร่วมลงชื่อให้ป่าแม่วงก์เป็นมรดกโลก ขณะมีคนมาลงชื่อ 4 พันกว่าคนแล้ว (สนใจลงชื่อได้ที่ https://goo.gl/65L4IN) โดยมีแนวคิด ป่าที่สำคัญไม่ควรถูกทำลาย และทางออกของปัญหาการสร้างเขื่อน เพื่อให้ประชาชนได้รับชุดข้อมูลที่ถูกต้อง เรื่องการจัดการน้ำและสร้างเขื่อน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าตะวันตก เข้าใจและเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งเพื่อให้เกิดกระแสที่ช่วยผลักดันให้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์กลายเป็นมรดกโลก
ส่วนนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานชื่อ"น้ำ ป่า สัตว์ คน ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์" มีแนวคิดเป็นการออกแบบสื่อเพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยแสดงผลที่จะเกิดขึ้นต่อกันเป็นลำดับ จากการสร้างและไม่สร้างเขื่อนควบคู่กันไปในประเด็นเดียวกัน สำหรับให้คนที่ไม่มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการมาก่อน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายและเข้าใจได้มากขึ้น มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์น้อยสามารถนำงานของตนเองไปประกอบการตัดสินใจได้โดยจัดทำเป็นแผ่นพับ และสุดท้ายกับผลงานชื่อ "ทำไม? ต้องแม่วงก์" จากสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะวิทยาลัยกรุงเทพ มีแนวคิดเรื่องเขื่อนแม่วงก์ว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีผลกระทบต่อป่าตะวันตกและสัตว์ ป่าบริเวณนั้นร้ายแรงอย่างไร ผ่านผลงานโฆษณา
ว่าด้วยเรื่องของ"น้ำ"
เริ่มที่ผลงาน "น้ำเหลือในเมืองใหญ่" จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ที่จัดทำสื่อในรูปแบบวิดีโอ เพอร์ฟอร์แมนซ์ ให้ "คนเมือง" ตระหนักถึงคุณค่าของ "น้ำ" ผ่านการตั้งกล้องแอบถ่ายอาสาสมัครใส่ผ้าขาวม้าและไปอาบน้ำที่ลานน้ำพุที่สวนสนุก คาดหวังว่าหาก "คนเมือง" ได้ชมจะได้เกิดความตระหนักและเล็งเห็นปัญหาที่กำลังจะมาถึงในวันข้างหน้า หากเรายังละเลยที่จะประหยัดน้ำอาจจะมีคนต่างจังหวัดมาใช้น้ำที่เมืองอย่างที่เห็นก็ได้ ผลงาน "น้ำ" จากสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปะการออกแบบ ม.รังสิต เปรียบ "น้ำ" เหมือนผู้หญิง ในรูปแบบไวรัลวิดีโอ และผลงาน "น้ำกำลังตาย" จากสาขา (Graphic) , เรขศิลป์,นฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นปัญหาคนมองไม่เห็นคุณค่าและใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง เหมือนน้ำเป็นของตาย เพื่อให้มองเห็นผลกระทบการขาดแคลนน้ำในอนาคต ถ่ายทอดผ่านภาพใช้ทรายแทนน้ำแข็ง ปลาว่ายในโหลทราย เป็นต้น ส่วนผลงาน "Save the City" จากสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร นำเสนอให้เข้าใจระบบการจัดน้ำน้ำแบบง่ายๆผ่าน บอร์ดเกม เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็ก ได้เข้าใจข้อมูลง่ายๆ ของปัญหาเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเยาวชนไท และตบท้ายที่ผลงานชื่อWhen I Fall in Love" จากสาขาวิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เลือกนำเสนอเรื่องราวของคนที่เป็นนักอนุรักษ์ ที่มีชีวิตประจำวันที่เหมือนกับคนทั่วไปเพื่อสะท้อนมุมมองว่าทุกคนสามารถสร้างจิตสำนึกในเรื่องของธรรมชาติได้เหมือนกัน
นายแทนกมล เครือรัตน์ ม.ศิลปากร ร่วมสะท้อนการเรียนรู้ว่า "...ผมได้ไปหาข้อมูลลึกๆ ลงไป เกี่ยวกับเรื่องน้ำ ที่บอกว่าประเทศไทยมีน้ำเหลือใช้อย่างเหลือเฟือ แต่จริงๆ แล้วน้ำไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น ผมต้องการจะสื่อถึงทุกคนที่ใช้น้ำสิ้นเปลือง "น้ำ" ไม่ได้มีเหลือเฟือเหมือนอย่างที่ทุกคนคิดหรอก คนที่เขายังขาด "น้ำ" ยังมี ผมบังคับให้เขาปิดน้ำทุกครั้งที่เขาล้างหน้าแปรงฟัน หรือซื้อน้ำกินแล้วเหลือบังคับให้เขากินหมดไม่ได้หรอก ผมก็แค่จะบอกว่ามันยังมีคนที่อยากใช้น้ำ ผมบังคับให้คุณใช้น้ำให้คุ้มค่าไม่ได้หรอก แต่ผมก็แค่บอกว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าคุณอีก..."
ส่วนประเด็นการเรียนรู้ที่นักศึกษาให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เริ่มที่ผลงานที่น่าสนใจชื่อว่า "ฆรู" ซี่งเป็นคำที่รวมกันของ ฆูรู ที่แปลว่าครูในภาษามลายูกับคำว่าครู เพื่อสื่อถึงการสะกดคำที่ผิดเพี้ยนที่เป็นผลจากการศึกษาไทยที่ผิดพลาด นักศึกษาจากสาขาวิชาออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอเรื่องราวของนักเรียนโรงเรียนตาดีการูสะมิแล และโรงเรียนตาดีกาว่า เล่าความความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เล่าเรื่องราวผ่านโฟโต้บุ้ค โปสการ์ด และเฟสบุ้ค "สะท้อนปัญหา "ครู" คือบุคคลสำคัญของเด็กนักเรียน นายนครา ยะโกะ สะท้อนว่า"โครงการฯ นี้ ทำให้เราต้องลงไปอยู่กับปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหา"
ผลงาน "สร้างสรรค์เฟร่อ" จากสาขาวิชานิเทศศิลป์ คณะนิเทศศาตร์ ม.อัสสัมชัญ (เอแบค) ต้องการสะท้อนเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ สำคัญสำหรับวัยรุ่นและประเทศไทยไม่เร่งแก้ไขอาจจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ ผลงาน "D + READ" ผลงานสร้างสรรค์ของสาขาวิชานิเทศศิลป์ คณะนิเทศศาสตร์ ที่สะท้อนการแชร์ในโลกโซเชียลขาดการอ่านและการใช้สื่ออย่างมีวิจารณญาณ รูปแบบสื่อที่มีเอกลักษณ์นำเสนอเป็นร้านขายยาแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างเตะตาคนทีเดียว ต่อกันที่ผลงาน "Young Share" ของนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบสื่อสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ นำเสนอสื่อเป็นจดหมายลูกโซ่เพื่อให้คนเกิดความตระหนักก่อนที่จะแชร์อะไรออกไปไม่เช่นนั้นอาจจะเหมือนจดหมายลูกโซ่ที่ทำให้คนเกิดความหวาดผวา และมีเนื้อหาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฏหมายโซเชียลฯ ให้อ่านกันอีกด้วย
มาที่ผลงานชื่อ "ลองแชร์" (Long Share) ของนักศึกษา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร สะท้อนปัญหาปัจจุบันที่พ่อแม่ ตีกรอบชีวิตของลูก จึงสร้างสื่อออกมาเพื่อให้ผู้ปกครองตระหนักความฝันจริงๆ ของลูกคืออะไรผ่านสื่อโปสเตอร์ ผลงาน "มาชิด แทนแชท เพิ่มความชิดใกล้ ให้คนใกล้ชิด" ของนักศึกษาสาขานฤมิตศิลป์ ม.มหาสารคาม สะท้อนความจริงของสังคมปัจจุบันที่คนในครอบครัวห่างเหินกันเพราะโลกโซเชียลฯ จึงต้องการกระตุกปัญหานี้ ส่วนผลงาน "Who am I?" ใครคือฉัน?" ผลงานของสาขาวิลาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดียว จากคณะเทคโนโลยีและการสื่อสาร ม.ศิลปากรเปิดเวบไซต์แคมเปญเพื่อสังคมสำหรับเด็กที่ต้องการค้นหาตัวเองในอาชีพที่อยากเป็น และผลงาน "Art Room-Art Learn-Art เลย" ของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร นำเสนอแนวคิดงานศิลปะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากการลงมือทำ ผ่านรูปแบบ Interactive Sculpture และวิดีโอ และกลุ่มสุดท้ายกับผลงานชื่อ "Mongi Day Challenge" จากนักศึกษา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ชวนเด็กๆ ออกจากบ้าน โดยร่วมกิจกรรมที่มีการขยับร่างกายและนำแต้มมาแลกของรางวัล
สำหรับ 19 ผลงานของนักศึกษาด้านศิลปะที่ลงคลุกกับประเด็นสังคม หากสนใจสามารถเข้าชมผลงานที่ครบถ้วนได้ที่www.scbfoundation.com/project/UNC สามารถร่วมนำผลงานของน้องๆ ออกมาชมและแชร์กันได้แล้ววันนี้....