กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาเอกในด้านศาสตร์พระราชาในปี 60หวังผลิตบุคลากรด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนกระจายสู่สังคม
มหาวิทยาลัยมหิดลและมูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมลงนามความร่วมมือการจัดตั้ง "ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาหรือ Mahidol Center for Sustainable Development"ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนพร้อมเตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา (Ph.D. in Sustainable Leadership) เป็นแห่งแรกในประเทศไทยในปี 60โดยคาดหวังว่าผู้ที่จบหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถนำความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสาขาที่ตนถนัดไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และกระจายต่อแนวคิดดังกล่าวสู่สังคมในลำดับต่อไป
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันเกิดมาจากการขาดแหล่งบ่มเพาะแนวคิดดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยการจัดการฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิมั่นพัฒนา เตรียมจัดตั้ง "ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ตามศาสตร์พระราชาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตนักวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือได้ว่าศูนย์ฯดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวงการการศึกษาของไทย ที่พร้อมผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการโดยยึดหลักความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง
รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเป้าหมายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม และระบบนิเวศ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงต้องพิจารณาถึงความสุ่มเสี่ยงต่อระบบทางธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้งในรุ่นนี้และรุ่นต่อไปซึ่งศาสตร์ของพระราชาในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นแนวคิดที่ตอบสนองกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี หากบุคคลและองค์กรนำเอาหลักความพอดีมาใช้ในการดำเนินชีวิตและการบริหารจัดการ ใช้ทรัพยากรต่างๆอย่างมีเหตุผล มีความพอประมาณในการบริโภค และคำนึงถึงผลที่จะเกิดจากการกระทำอย่างรอบคอบแล้ว ก็จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ และประชาคมโลกได้
ทั้งนี้ประเด็นเรื่องการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และถูกหยิบยกขึ้นหารือในเวทีต่างๆในระดับสากล โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของ "เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ" พ.ศ.2543 – 2558 (Millennium Development Goals – MDGs 2000 – 2015)ที่ผ่านมา และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ที่ประชุมได้พิจารณาเพื่อประกาศใช้ "เป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2559 – 2573" (Sustainable Development Goals – SDGs 2015 – 2030" เพื่อใช้เป็นหลักและกรอบการดำเนินงานสำหรับอีก 15 ปีข้างหน้า โดยจุดประสงค์หลักคือ ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงหลักความยั่งยืนในสถานการณ์ปัจจุบันรศ.ดร.จิรายุ กล่าวเพิ่มเติม
รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีฝ่ายวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการสถาบันมั่นพัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการต่อยอดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิมั่นพัฒนา และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนงานวิจัย การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์แห่งการบริหารจัดการตามแนวพระราชดำริ และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติทั้งนี้จะมีการเปิดหลักสูตรปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิต ด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา (Ph.D. in Sustainable Leadership) ในปี 2560 แนวทางการเรียนการสอนจะยึดหลักการแก้ปัญหาในปัจจุบันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยแยกตามสายสาขาที่ผู้เรียนสนใจ เช่น การจัดการธุรกิจ การจัดการชุมชน การจัดการการศึกษาผ่านการสอนจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากในและต่างประเทศ ซึ่งในระยะแรกทางมูลนิธิมั่นพัฒนาและวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลจะมีการพิจารณามอบทุนให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 5 ทุนโดยคาดหวังว่าผู้ที่จบหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถนำความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสาขาที่ตนถนัดไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และกระจายแนวคิดดังกล่าวสู่สังคมในลำดับต่อไป
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่www.cmmu.mahidol.ac.th