บริโภคอาหารทะเล ระวังโรคท้องร่วง

ข่าวทั่วไป Thursday November 15, 2001 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--วช.
บริโภคอาหารทะเล ระวังโรคท้องร่วง การบริโภคอาหารรสจัดโดยเฉพาะรสเผ็ดนอกจากจะช่วยชูรสชาติของอาหารแล้วยังต้องระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ระบบอวัยวะภายในต้องทำงานหนัก และเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วง เมื่อรับประทานอาหารทะเลปรุงสำเร็จหรืออาหารประเภทยำ ๆ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตระหนักถึงสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.ดร.ลัดดาวัลย์ รัศมิทัตและนายเฉลิมศักดิ์ ทองธรรมชาติ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ทำการวิจัยเรื่อง “จุลินทรีย์ก่อโรคอุจจาระร่วงในอาหารทะเลปรุงสำเร็จและน้ำบริโภค ในแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี และความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอุจจาระร่วง” โดยศึกษาจากแหล่งท่องเที่ยวบริเวณหาดบางแสน หนองมน แหลมแท่น เขาสามมุข และอ่างศิลา รวมทั้งเลือกอาหารยำทะเลรวมมิตรปรุงสำเร็จพร้อมบริโภค หอยนางรมสดพร้อมเครื่องปรุง และน้ำดื่มเป็นตัวอย่างอาหารที่ศึกษา ผลการวิจัยพบว่า ยำทะเลรวมมิตร และน้ำดื่มมีจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงชนิดต่าง ๆ ในเกณฑ์ที่สูง โดยเฉพาะหอยนางรมสดพร้อมเครื่องปรุง เป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการพบเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วงสูงสุด รองลงมาคือ ยำทะเลรวมมิตร และน้ำดื่ม ตามลำดับ โดยพบเชื้อจุลินทรีย์ประเภทโคลิฟอร์มมาก ที่สุด รองลงมาคือ เชื้อสแท็ฟฟิลโลคอคคัส ออริอุส และอีโคไล ส่วนเชื้อเซลโนเนลลาพบน้อยมาก ซึ่งจากการพบหอยนางรมมีการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มที่เป็นจุลินทรีย์ก่อโรคอุจจาระร่วงสูงมากนั้นอาจเนื่องมาจากบริเวณการเพาะเลี้ยงหอยนางรมมีการปนเปื้อนของน้ำเสียจากบ้านพักอาศัย โรงงาน ขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อไปสะสมอยู่ในตัวหอยหรือเกิดการปนเปื้อนจากมือคนแกะหรือน้ำที่ใช้แช่เนื้อหอยหรือน้ำจิ้มเครื่องปรุง ส่วนในยำทะเลการปนเปื้อนของเชื้ออาจมาจากวัตถุดิบอาหารและผักที่เป็นส่วนผสม รวมทั้งการปรุงที่ใช้ความร้อนไม่สูงพอ สำหรับในน้ำดื่มพบว่า น้ำดื่มประเภทไม่บรรจุขวดมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์มากกว่าน้ำดื่มบรรจุขวดถึง 7 เท่า
นอกจากนี้ ยังพบว่า อาหารจากหาบเร่ แผงลอย และรถเข็น มีความเสี่ยงจากโรคอุจจาระมากกว่าอาหารจากร้านอาหารหรือภัตตาคาร และพบว่าแหล่งท่องเที่ยวที่ต่างกันมีอัตราการพบเชื้อแตกต่างกัน โดยพบว่าอ่างศิลาเป็นแหล่งที่มีอัตราการพบเชื้อสูงสุด แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่สามารถระบุถึงความสัมพันธ์ที่แท้จริงของการบริโภคอาหารทะเลปรุงสำเร็จและน้ำดื่มกับการระบาดหรือติดเชื้อโรคอุจจาระร่วง เนื่องจากมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัยและจุลินทรีย์ที่ก่อโรคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่บ่งชี้ถึงสุขลักษณะของการปนเปื้อนและการมีสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหามาตรการและวิธีลดการปนเปื้อนดังกล่าว--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ