กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี
บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเยาวชนไทย โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มคิวบิก ครีเอทีฟ จัดกิจกรรม "ค่ายเยาวชนคิวบิก ครีเอทีฟ แคมป์ รุ่นที่ 14 (Cubic Creative Camp 14: CCC 14)" สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 (รุ่น Junior) นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 (รุ่น Master) และนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ปีที่ 4 ขึ้นไป (รุ่น Extreme) รวมทั้งสิ้น 176 คน ซึ่งในปีนี้ ทางซีเกทได้เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสจากโรงเรียนห่างไกลในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและโรงเรียนศรีสังวาลย์ จำนวน 15 คน รวมทั้งน้องๆ บุตร-ธิดาของพนักงานซีเกทจำนวน 15 คนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในค่ายฯ
นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ โรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "นอกจากซีเกทจะเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในด้าน STEM คือ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ ผ่านกิจกรรมค่ายและการแข่งขันที่หลากหลายรวมทั้งค่ายเยาวชนคิวบิก ครีเอทีฟ แคมป์ กิจกรรมในค่ายเหล่านี้ล้วนเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้ทักษะชีวิต การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ การริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการเรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยจุดประกายให้น้องๆ สนใจศึกษาต่อและทำงานในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น"
กิจกรรมในค่ายเยาวชนคิวบิก ครีเอทีฟ แคมป์ รุ่นที่ 14 ซึ่งจัดขึ้น ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. ประกอบด้วยกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย อาทิเช่น กิจกรรม "กระดาษสามมิติ" ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สร้างสรรค์ประติมากรรมด้วยวัสดุที่เรียบง่าย ให้กลายเป็นชิ้นงานแสนสวย สร้างบ้านที่ทั้งน่าอยู่ ประหยัดพลังงาน แข็งแรงปลอดภัย พร้อมนำเสนอและประชันไอเดียกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อเอาชนะใจกรรมการในกิจกรรม "The Safehouse" กิจกรรม Cubic Mana Racing 2 ซึ่งเป็นกิจกรรมเกมออนไลน์อินเตอร์แอคทีฟ ทำให้ได้เรียนรู้การประเมินความเสี่ยงและการลงทุน การประสานงานระหว่างสมาชิกในทีม การวางแผนกลยุทธ์และการใช้ไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กิจกรรม สะพานคนจนต้องทนหน่อยน้อง เป็นกิจกรรมที่น้องๆ จะได้เรียนรู้แนวคิดพื้นฐานเชิงวิศวกรรมเกี่ยวกับโครงสร้างเพื่อการรับน้ำหนัก กลศาสตร์พื้นฐานและการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนกิจกรรม The Grand Teamwork Tournament จะทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่สำคัญในการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การสื่อสาร แบ่งงาน การบริหารจัดการ รวมทั้งการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ
ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า "สวทช. มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชนไทยตลอดระยะเวลา 25 ปีของการดำเนินงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าค่ายเยาวชนคิวบิก ครีเอทีฟ แคมป์ รุ่นที่ 14 จะมีส่วนในการผลักดันให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่สังคมไทย"
รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาของกลุ่มคิวบิก ครีเอทีฟ กล่าวว่า "จุดเด่นของค่ายคิวบิก ครีเอทีฟคือการใช้ความสนุกสนานในการนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและเป็นแรงกระตุ้นให้น้องๆ อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรม กิจกรรมในค่ายได้รับการออกแบบให้มีความยากง่ายที่เหมาะสมกับศักยภาพของน้องๆ ที่กำลังศึกษาในแต่ละระดับ รวมทั้งมุ่งเน้นให้พวกเขาฝึกการแก้ปัญหาผ่านสถานการณ์จริงในรูปแบบต่างๆ"
นอกจากการจัดกิจกรรมหลักต่างๆ ทางคณะผู้จัดค่ายฯ ยังมีกิจกรรมสันทนาการและเกมกีฬา ซึ่งสอดแทรกปัญหาให้ขบคิดและเสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างสมาชิกในแต่ละกลุ่มด้วย
ในค่ายนี้ นอกจากน้องๆ เยาวชนไทยจะได้ใช้เวลาว่างช่วงปิดภาคฤดูร้อนให้เป็นประโยชน์แล้ว การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายยังทำให้พวกเขาได้พัฒนาและตระหนักถึงความสามารถและคุณค่าในตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตขึ้นเป็นบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
ชวิศ สร้อยคำ หรือ "น้องมี่" นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสารสาสน์วิเทศนครราชสีมา เล่าเกี่ยวกับความประทับใจในค่ายฯ ว่า "ผมชอบกิจกรรม Egg-Cident มากที่สุด เพราะผมและเพื่อนร่วมทีมได้ออกแบบรถที่แข็งแรงอย่างสุดความสามารถ เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ที่บรรจุอยู่ในรถแตก นอกจากนี้ ผมยังชอบกิจกรรมสันทนาการและเกมกีฬาต่างๆ ด้วยครับ ค่ายนี้ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่หลายคน ได้ความรู้และสนุกสนานกับการทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนทำให้อยากกลับมาเข้าค่ายอีกในปีหน้าครับ"
นันท์นภัส วรรณเขจร หรือ "น้องจิว" นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม เล่าว่า "หนูชอบกิจกรรม Cubic Quest 25 : The Rising Sun เพราะได้มีโอกาสสวมบทบาทในโลกสมมุติ พูดคุยกับตัวละครต่างๆ เพื่อเสาะหาข้อมูลชิ้นสำคัญ แล้วนำมาหาคำตอบค่ะ อีกหนึ่งกิจกรรมที่หนูชอบมากคือ Cubic Battlefield 9 ซึ่งช่วยฝึกให้หนูและเพื่อนๆ ในทีมรู้จักวางแผนกลยุทธ์ เรียนรู้ว่าการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีต้องทำอย่างไร เพื่อช่วยกันทำคะแนนให้แก่ทีมค่ะ เป็นการใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมที่สนุกและได้ความรู้มากเลยค่ะ"
ข้อมูลเกี่ยวกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับส่วนราชการ เอกชนและสถาบันการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด และเข้าถึงความต้องการของทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ สิ่งทอ การประมงและอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี เกิดการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีการค้าโลกได้