กรุงเทพฯ--13 ต.ค.---แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
ผู้บริหารสถาบันการเงิน ยอมรับว่าต้องการนักการเงินคลื่นลูกใหม่ เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรง และการเปิดเสรีทางการเงินจุฬาฯ เป็นผู้นำหลักสูตรการเงินแนวใหม่ เร่งผลิตนักการเงินมืออาชีพป้อนตลาด
ผู้บริหารสายการเงินของธนาคารชั้นนำ และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ต่างยอมรับว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินในประเทศ พร้อมกับนวัตกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนทั่วโลก ทำให้สถาบันการเงินไทยต้องการผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ จุฬาฯได้เปิดหลักสูตรทางการเงินโดยเฉพาะเพื่อผลิตนักการเงินยุคใหม่ให้พร้อมเสริมทีม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในตลาดการเงินสำหรับการแข่งขันระหว่างองค์กรไทยและต่างประเทศ
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามสำรวจพบว่า ผู้ที่สำเร็จหลักสูตรทางการเงินปีนี้เกือบทั้งหมดได้งานทำตรงตามสาขาทุกคน ทั้งนี้เพราะสถาบันการเงินและองค์กรขนาดใหญ่ตื่นตัวด้านการบริหารการเงินด้วยเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ จึงมีความต้องการผู้ที่รู้จริง และลงมือทำงานได้ทันที
นายธีระ ภู่ตระกูล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นวิทยากรรับเชิญของหลักสูตร MS in Finance กล่าวว่า "การแข่งขันในตลาดทุนได้ทวีสูงขึ้นเรื่อยๆ และอีกไม่นาน จะมีการเปิดเสรีทางการเงิน ดังนั้นสถาบันการเงินจึงต้องมีการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น บุคลากร ไอที และการสร้างชื่อเสียงขององค์กรให้เป็นที่ยอมรับ สำหรับบุคลากรต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ต้องมีความรู้ด้านการเงินและพัฒนาการของเครื่องมือทางการเงินเป็นอย่างดี"
"หลักสูตร MS in Finance ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ช่วยคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถให้แล้วระดับหนึ่ง ผู้ที่จบจากหลักสูตรนี้ จึงมีความพร้อมที่จะทำงานในสถาบันการเงินใดก็ได้ ตามแผนกที่สนใจ เช่นบางคนมุ่งไปที่ เรื่อง Fixed Income บางคนเป็นโบรกเกอร์ เป็นนักวิเคราะห์หุ้น ฯลฯ หลักสูตรนี้ให้ความรู้เพียงพอสำหรับการเป็นนักการเงินในยุคเปลี่ยนแปลง สำหรับความเชี่ยวชาญก็ต้องฝึกฝนเพิ่มเติมในระหว่างการทำงาน ที่บลจ. ไทยพาณิชย์ ปีนี้ก็ได้บรรจุบุคลากรที่จบจากหลักสูตร MS in Finance จากจุฬาฯ ด้วย เพราะมีความมั่นใจในหลักสูตรที่ทันสมัย การนำบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ที่มีความรอบรู้ด้านการบริหารการเงินลึกซึ้ง ก็ช่วยลดระยะเวลาในการฝึกอบรมความรู้ด้านการเงินใหม่ๆ ที่เกิดหลังจากภาวะวิกฤตทางการเงิน"
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง ผู้ช่วยหัวหน้าส่วน ฝ่ายบริหารความเสี่ยงองค์กร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "นับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2530 เป็นต้นมา ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เริ่มเน้นเรื่องการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ทั้งนี้เพราะสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงไป มีเครื่องมือทางการเงินหลากหลายเพิ่มขึ้น และมีการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงต้องการบุคคลที่มีความรอบรู้ ความเข้าใจด้านการเงินยุคใหม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องเข้าใจวิธีการบริหารความเสี่ยงภายในสำหรับองค์กร และการให้คำปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยงสำหรับลูกค้า ต้องสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงประเภทต่างๆ เช่น ความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Risk) จากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) จากสภาพคล่อง (Liquidity Risk) และความเสี่ยงจากการบริหารงาน (Operational Risk) ผู้ที่เข้ามาดูแลรับผิดชอบ ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ เข้าใจภาวะตลาดการเงิน และพัฒนาตัวเองเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด นอกจากนั้นควรจะมีความรู้ทางด้านไอทีบ้าง เนื่องจากต้องมีการทำโมเดลต่างๆ สำหรับผลิตภัณฑ์การเงินแต่ละตัว"
นายกฤษณ์ กล่าวต่อไปว่า "หลักสูตร MS in Finance ช่วยผลิตบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดการเงิน โดยเฉพาะมีการสอนด้านการบริหารความเสี่ยง ซึ่งผู้เรียนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้ดีระดับหนึ่ง เพราะนอกจากการได้เรียนกับผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศแล้ว ยังได้มีโอกาสศึกษากรณีตัวอย่างจริงๆกับนักบริหารการเงินที่มีประสบการณ์ จึงทำให้ผู้ที่จบจากหลักสูตรนี้เข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงได้เร็วขึ้น"
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า " ที่ฝ่ายบริหารการเงินของธนาคารได้รับผู้ที่จบจากหลักสูตร MS in Finance เข้ามาร่วมงานไว้หลายคน เพราะเชื่อมั่นว่า ผู้ที่ผ่านจากหลักสูตรนี้มีความเหมาะสมที่จะปฏิบัติงานในสถาบันการเงิน เนื่องจากผู้เรียนมีพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นครอบคลุมแทบทุกแขนงของธุรกิจการเงิน กล่าวได้ว่าเรียนวิชาเกี่ยวกับการเงินลึกซึ้งมากกว่าผู้ที่จบ MBA ทั่วๆ ไป และเป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้องค์กรขนาดใหญ่ๆ มีการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อย่างเช่นการออกหุ้นกู้แทนการใช้สินเชื่อเพื่อลดต้นทุนทางการเงินซึ่ง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ เปลี่ยนเป้าหมายจากการหารายได้จากดอกเบี้ย เป็นการเสนอบริการใหม่ที่ไม่ใช่รายได้จากดอกเบี้ย เช่น การให้บริการด้านการบริหารความเสี่ยง ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์เองได้ให้ความสำคัญกับการบริหารการเงินที่ให้มูลค่าเพิ่ม และพยายามที่จะเป็นผู้นำรายหนึ่งในจากการหารายได้ประเภทนี้ โดยขณะนี้วงการธนาคารไทยกำลังปรับตัวและมีรายได้จากส่วนนี้ได้ประมาณร้อยละ 10-20 ในขณะที่ธนาคารต่างประเทศในไทยได้ทำมานานและมีรายได้จากส่วนนี้ถึงประมาณร้อยละ 40 ขึ้นไป โดยการปรับตัวของธนาคารจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปด้วย และการได้บุคลากรที่มีความรู้ด้านเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ย่อมทำให้มีการพัฒนาได้เร็วกว่า"
"การที่ผู้ที่จบหลักสูตร MS in Finance จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางการเงิน (Financial Lab) ซึ่งเป็นห้องค้าจำลองที่เหมือนจริงและทันสมัยมาก เพราะได้ใช้ ระบบ Reuters 3000 แล้ว ในขณะที่ห้องค้าบางแห่งยังคงใช้ Reuters 2000 เท่านั้น และได้ทราบว่าหลักสูตรนี้ได้ฝึกฝนให้ ผู้เรียนฝึกทำงานวิจัยที่จำลองสถานการณ์เสมือนจริงหลายโครงการอีกด้วยและงานวิจัยใหม่ๆ ก็มีประโยชน์มาก ทำให้ผู้ที่เข้ามาทำงานได้นำมุมมองใหม่ๆ มาใช้ ช่วยเสริมให้แก่ ทีมงานด้วย" ดร. ภากร กล่าวสรุป
"เป็นที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งที่บัณฑิตสาขาการเงินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเราเป็นแห่งแรกที่ผลิตขึ้นกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดการเงินในไทย แสดงให้เห็นว่า ภาควิชาการธนาคารและการเงินได้จัดทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับภาคธุรกิจและการเงินในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะสามารถปรับใช้กับตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว" ผศ. ดร. วิรัช อภิเมธีธำรง คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กล่าว
"สิ่งที่ทำให้หลักสูตรนี้แตกต่างจากที่อื่นก็คือ เรามีห้องปฏิบัติการทางการเงินเต็มรูปแบบเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และใช้ระบบ FAST (Financial Analysis and Securities Trading) ซึ่งเป็นโปรแกรมเกี่ยวกับการค้าหลักทรัพย์ และเป็นลิขสิทธิ์ของจุฬาฯ เท่านั้น ขณะนี้ได้พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเป็นระบบ "รอยเตอร์ 3000" ซึ่งให้บริการข้อมูลที่ครบวงจร ทั้งบทวิเคราะห์ ข้อมูลอ้างอิง ราคา และข่าว
นอกจากนี้ การเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาจากต่างประเทศ มาให้มุมมองของธุรกิจระดับโลกแก่นิสิต ในปีนี้ เราได้เชิญ ดร. คริส สตริคแลนด์ ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้าน Risk Management จาก อังกฤษ และเป็นที่ยอมรับของนักการเงินทั่วโลก มาให้มุมมองเรื่องการจัดการด้านความเสี่ยงของธุรกิจทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสความเป็นจริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ " ผศ. ดร. วิรัช กล่าว
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเงิน เป็นแห่งแรกเมื่อปี 2539 ตั้งแต่นั้นมาโครงการนี้ได้ผลิตบัณฑิตทั้งสิ้น 120 คน ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ในแวดวงการเงินและบริษัทต่างๆ
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับใบสมัครหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการเงิน
ได้ที่ : ห้อง 407 ชั้น 4 อาคาร 8 หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเงิน
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
E-mail : msfin@phoenix.acc.chula.ac.th หรือเชิญชมเว็บไซต์ ของหลักสูตรได้ที่ http://come.to/msfchula หรือ http://www2.chula.ac.th/~msfin
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:
คุณปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล
คุณนิโลบล โควาพิทักษ์เทศ
บริษัท แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 257 0300--จบ--
-อน-