กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กำหนดแนวทางการจัดการสาธารณภัยภายใต้กลไก "1 ระบบ 4 แนวทาง" เพื่อเตรียมความพร้อมจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับแผน ปภ.ชาติ พ.ศ.2558 และแผน ปภ.ทุกระดับ มุ่งเน้นการวางระบบบัญชาการเหตุการณ์และแบ่งมอบภารกิจการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมทุกมิติในการจัดการภัยพิบัติ พร้อมกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานให้จังหวัดนำไปปรับใช้ในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยให้เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงภัยและบริบททางสังคมของแต่ละพื้นที่
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์ภัย ในหลายพื้นที่ อาทิ ไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ ไฟไหม้ป่าพรุในจังหวัดนราธิวาส รวมถึงวาตภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือ สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยเป็นระบบและ มีประสิทธิภาพ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ถอดบทเรียนสถานการณ์ภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นราธิวาส และอุดรธานี มากำหนดแนวทางการจัดการสาธารณภัย ภายใต้กลไก "1 ระบบ 4 แนวทาง" มุ่งเน้นการวางระบบการเตรียมพร้อมและจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 รวมถึงแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทุกระดับ โดย " 1 ระบบ" เป็นการวางระบบบัญชาการเหตุการณ์ โดยให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเพื่อเป็นศูนย์กลาง ในการสั่งการและระดมสรรพกำลังในพื้นที่ พร้อมแบ่งมอบภารกิจการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมทุกมิติในการจัดการภัยพิบัติ ทั้งส่วนอำนวยการ โดยติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัย แจ้งเตือนภัย จัดทำแผนเผชิญเหตุ ประเมินความต้องการ และความจำเป็นในการสนับสนุนทรัพยากรในการจัดการภาวะฉุกเฉิน ส่วนปฏิบัติการ ทำหน้าที่กู้ภัย เผชิญเหตุภายใต้แผนปฏิบัติการ ที่กำหนด เพื่อควบคุมสถานการณ์ภัย โดยมุ่งรักษาชีวิตและปกป้องทรัพย์สินของผู้ประสบภัย และส่วนสนับสนุน รับผิดชอบด้านการสนับสนุนการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ได้กำหนด 4 แนวทางการปฏิบัติงาน ได้แก่ 1. การแบ่งมอบภารกิจและสายบังคับบัญชาอย่างชัดเจน เพื่อรับผิดชอบการบริหารจัดการในพื้นที่ทั้งช่วงก่อน ขณะ และภายหลังเกิดภัย รวมถึงอำนวยการและกำกับการปฏิบัติงานในภารกิจสำคัญ 2. กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อจะได้วางแผนการระดม สรรพกำลังและวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแต่ละพื้นที่ 3. กำหนดรูปแบบ การบริหารจัดการทรัพยากร อาทิ เครื่องมือ อุปกรณ์ ยานพาหนะ โดยวางระบบและจัดทำทะเบียนจำแนกตามประเภทการใช้งาน วางแผนการจัดสรรและสั่งใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย และ 4. กำหนดช่องทางการสื่อสาร โดยกำหนดเครือข่าย การติดต่อสื่อสารในพื้นที่และแสวงหาช่องทางอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงระบบสื่อสารหลัก – รอง – สำรองของทุกหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานให้จังหวัดนำกลไก "1 ระบบ 4 แนวทาง" ไปปรับใช้เป็นกรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในภาวะฉุกเฉินให้เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงภัยและบริบททางสังคมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งได้เน้นย้ำจังหวัดให้ความสำคัญกับการประเมินสภาพความเสี่ยงภัยและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยยกระดับการดูแล ความปลอดภัยของประชาชนจากสาธารณภัย รวมถึงเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand) ที่มุ่งพัฒนาประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ.2558 - 2563"มั่นคง – มั่งคั่ง – ยั่งยืน"
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th