กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--กรมสุขภาพจิต
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดื่มสุรา นอกจากทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายแล้ว ยังสร้างปัญหาความรุนแรงตามมาได้อีกด้วย หากผู้ที่ดื่มไม่สามารถประคองตัวเองและสติให้มั่นคงได้ ปัญหาอาชญากรรมที่มาจากการเมาสุราจึงปรากฏให้เห็นเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมที่สุราเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นนำไปสู่การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันจนเสียชีวิต พบว่า ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏเป็นข่าวไม่น้อยกว่า 10 รายต่อเดือน สอดคล้องกับ รายงานการรับแจ้งเหตุและการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับฐานความผิดคดีอาญา ในปีงบประมาณ 2558 ที่พบว่า คดีอาญาที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบจากปีก่อนหน้า ได้แก่ การทำร้ายร่างกายและการทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย การข่มขืน กระทำชำเรา การลักทรัพย์และชิงทรัพย์ โดยสาเหตุสำคัญของการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นมักเกิดจากการทะเลาะวิวาทอันเนื่องมาจากเมาสุรา ส่วนการข่มขืน กระทำชำเรา มักพบสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรื่องชู้สาวและเมาสุรา ทั้งนี้ ก็เนื่องจากฤทธิ์ของสุราไปควบคุมสมองส่วนของความคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผล ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ขาดการการยับยั้งชั่งใจ ไม่รับรู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ประกอบกับทำให้เกิดความรู้สึกคึกคะนองและก้าวร้าว จึงทำให้เกิดปัญหา สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นได้ง่าย ในที่สุดก็เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ สามารถป้องกันและแก้ไขได้ โดยเริ่มต้นที่ครอบครัว ด้วยการสื่อสารที่ดี ลดความขัดแย้ง สร้างสัมพันธภาพ ให้กำลังใจกัน ตลอดจน พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ร่วมกันรณรงค์ให้ ลด ละ เลิก เหล้าให้มากขึ้น และที่สำคัญ หากพบเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น ต้องไม่เพิกเฉย เพราะความรุนแรงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือเรื่องส่วนตัวของใคร ควรรีบให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ เช่น โทรศัพท์แจ้งตำรวจ ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชนหรือสังคม
ด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติดของคนไทยพบความชุกสูง โดยเฉพาะปัญหาจากการใช้สุรา ซึ่งล่าสุด จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี 2556 เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวช ปัญหาสุขภาพจิต สารเสพติด และการเข้าถึงบริการของคนไทย พบ คนไทยมีปัญหาจากการใช้สุรา ถึงร้อยละ18 หรือประมาณ 9.3 ล้านคน การลด ละ เลิก หรือไม่ดื่มเลย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองในระยะยาวไม่ให้เป็นทั้งผู้เสียหายและผู้กระทำผิด กรณีผู้ที่ดื่ม อาจวางแผนทำกิจกรรมอื่นทดแทน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เคยดื่มเป็นประจำ หลีกเลี่ยงกลุ่มเพื่อนที่เคยดื่มด้วยกัน หรือปฏิเสธโดยตรงว่ามีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งลดปริมาณการดื่มให้น้อยลง และไม่ขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมา เป็นต้น ซึ่งสามารถขอรับคำปรึกษาได้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ที่หากต้องเผชิญกับผู้ดื่มสุรา ถ้าเลี่ยงที่จะไม่เข้าใกล้บุคคลนั้นได้ก็ควรเลี่ยง แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ปฏิบัติ "3 ไม่" คือ ไม่นิ่งนอนใจ โทรศัพท์แจ้งตำรวจ หากพบว่า มีอาวุธอยู่กับตัวของผู้เมาสุราหรือบริเวณใกล้เคียง ไม่สร้างบรรยากาศ ข่มขู่ ตำหนิ หรือกดดัน ไม่ยิ้มเยาะหรือหัวเราะ ไม่โต้แย้งหรือท้าทาย หรือตะโกนใส่ เพราะจะยิ่งเพิ่มความโกรธและหงุดหงิดให้เขามากขึ้น ควรยุติการสนทนาลง ที่สำคัญ ไม่ใช้กำลัง ในการยุติความรุนแรง เว้นแต่จะเป็นการกระทำไปเพื่อป้องกันตัวตามเหตุผลที่สมควร