กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี
สคร.10 อุบลฯ ห่วงเปิดเทอม เสี่ยงโรคมือเท้าปาก ระบาด โดยเฉพาะเด็กเล็กอยู่รวมกัน ง่ายต่อการระบาด แนะศูนย์เด็กเล็ก ร.ร.อนุบาล ตรวจคัดกรองทุกวัน หากมีไข้ให้แยกเด็กป่วย หยุดเรียน และรักษาทันที
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา ประเทศไทย พบ รายงานของโรคมือเท้าปากเพิ่มสูงมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานผู้ป่วยสะสม (มกราคม - กุมภาพันธ์ ปี 2559 จำนวน 7195 ราย มากกว่าปี 2558 ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพียง 6,004 ราย) และในช่วงที่เด็กนักเรียนเปิดเทอมการระบาดของโรคจะยิ่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก อาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น จึงคาดว่าเมื่อเปิดภาคเรียนแล้ว จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ ซึ่งกลุ่มระบาดวิทยาฯ ได้พยากรณ์โรคมือเท้าปากในภาพรวมของ 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก มากถึง 1,519 ราย กระจายในทุกเดือน
นพ.ศรายุธ กล่าวอีกว่า เด็กที่ติดเชื้อโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ 1-2 วัน จากนั้นจะมีตุ่มหรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน อาจมีหลายแผลส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณคอหอยหรือใกล้ต่อมทอนซิล หากอาการรุนแรงจะลามมาที่ลิ้นกระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กเจ็บในปากและคอ ไม่ยอมดูดนม กินอาหารไม่ได้ส่วนใหญ่เด็กที่ป่วยอาการจะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ และหายได้เองภายใน 7 วันมีจำนวนน้อยที่มีอาการรุนแรง คือมีไข้สูง อาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรงโรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น การลดไข้ด้วยยาหรือเช็ดตัวบ่อยๆ ด้วยน้ำธรรมดานอนพักมากๆ รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มหากมีอาการรุนแรงควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
ซึ่งวิธีการป้องกันให้ห่างไกลโรคนี้คือ รักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ดูแลเด็ก ผู้ประกอบอาหาร และเด็กๆทุกคน ต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องส้วม หรือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก และก่อนเตรียมอาหารหรือก่อนรับประทานอาหารทุกชนิด หมั่นตรวจดูแผลในช่องปากของลูกหลานหากมีแผลหรือตุ่มให้รีบไปพบแพทย์ หากมีเด็กป่วยในโรงเรียน ให้แยกเด็กออกจากกลุ่มเด็กปกติและแยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม หลอดดูดและทำความสะอาดพื้นห้องหรือพื้นที่อื่นๆ ที่เด็กสัมผัสบ่อยๆเช่นลูกบิดประตู ราวบันได ด้วยน้ำผสมผงซักฟอกแล้วตามด้วยน้ำผสมน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน เช่น ไฮเตอร์แล้วล้างซ้ำด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์กระทรวงสาธารณสุขโทรฟรีหมายเลข 1422 /นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย