กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์
พีต้า องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ เปิดร้านป๊อบอัพสโตร์ในห้างดังกลางกรุงเทพฯ เซอร์ไพรซ์นักช็อปด้วยความจริงสุดสยองเบื้องหลังการถลกหนังจระเข้และงูสำหรับทำเสื้อผ้าและเครื่องหนังสุดหรู
นายเจสัน เบเคอร์ รองประธานองค์กรพีต้า เอเชีย กล่าวว่า "ในแต่ละปี สัตว์เลื้อยคลานเช่น งู หรือจระเข้นับเป็นแสนๆ ตัวถูกจับฆ่าอย่างทารุณเพื่อป้อนอุตสาหกรรมการทำเครื่องหนัง โดยที่คนจำนวนมากไม่ทราบเลยว่าสัตว์เหล่านี้ถูกทรมานมากแค่ไหนกว่าจะตายหลังจากถูกถลกหนังสดๆ เพื่อมาทำกระเป๋า รองเท้า และเข็มขัด วิธีเดียวที่จะช่วยสัตว์เหล่านี้ได้ คือการทำให้ผู้บริโภคได้ตระหนักว่าพวกเขาคือส่วนหนึ่งของวงจรอุบาทว์นี้ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม เราหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยปลุกให้ผู้บริโภคตื่น หันมาตระหนักถึงความจริงที่โหดร้าย และร่วมกันหยุดการทรมานสัตว์โดยหันไปใช้เสื้อผ้ากระเป๋าหรือเครื่องประดับที่ไม่ได้ทำจากหนังสัตว์แทน"
ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมจระเข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นตลาดสำคัญที่แบรนด์แฟชั่นระดับโลกเข้ามาหาซื้อหนังสัตว์ อุตสาหกรรมนี้มีการเลี้ยงจระเข้รวมทั้งสิ้นประมาณ 700,000 ตัว โดยมีฟาร์มขนาดใหญ่ 22 แห่ง และขนาดเล็กอีก 929 แห่งทั่วประเทศ โดยธรรมชาติแล้ว จระเข้เป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาวถึง 80 ปี แต่จระเข้ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มเหล่านี้จะถูกจับมาฆ่าเพื่อนำหนังมาขายตั้งแต่อายุเพียง 3 ปีเท่านั้น
ฟาร์มจระเข้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มที่ถูกถลกหนังมาทำรองเท้า เข็มขัด และกระเป๋า มักเลี้ยงจระเข้คราวละมาก ๆ อยู่กันอย่างแออัดในบ่อคับแคบ น้ำเน่าเหม็น เมื่อโตได้ที่ จระเข้จะถูกฆ่าด้วยการยิง หรือทุบจนตายด้วยค้อนขนาดใหญ่ บางครั้งคนงานจะใช้ค้อนโตๆ หรือสิ่วตอกลงไปที่กระดูกสันหลังของจระเข้ ทำให้เป็นอัมพาตก่อนจะถลกหนังทั้งเป็น
ส่วนงู มักถูกตอกหัวตรึงให้อยู่กับต้นไม้ทั้งเป็น ขณะที่คนงานแซะและถลกหนังออกตลอดทั้งตัว งูที่ถูกถลกหลังลอกออกหมดแล้วมักถูกโยนทิ้ง แต่เนื่องจากงูเป็นสัตว์ที่มีระบบเมตาบอลิซึมต่ำ จึงยังคงมีชีวิตต่อจากนั้นอีกนานหลายชั่วโมงกว่าจะตาย ส่วนตะกวด จะถูกตัดหัวก่อน บางตัวยังคงดิ้นพราดๆ ระหว่างที่ถูกถลกหนัง
นายภูริพงษ์ ลิมวนาทิพงษ์ แอสโซซิเอท ครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอดเวอร์ไทซิ่ง ประเทศไทย ผู้ดูแลแคมเปญนี้กล่าวว่า "หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าจระเข้ งู หรือสัตว์เหล่านี้ถูกถลกหนังทั้งเป็น แต่มีแค่ไม่กี่คนที่จะนึกภาพออกและตระหนักถึงความโหดร้าย เราเชื่อว่าถ้าให้ผู้บริโภคได้เห็น ได้สัมผัสด้วยตัวเองว่าสัตว์เหล่านี้ทรมานแค่ไหน ก่อนที่หนังของมันจะถูกนำมาทำเครื่องหนังที่สวยงาม ผู้บริโภคจะเข้าใจ และร่วมมือหยุดการกระทำที่โหดร้ายนี้ ร้านป๊อบอัพสโตร์ "เดอะ เลเธอร์เวอร์ค" (The Leather Work) แห่งนี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างเซอร์ไพรซ์ทำให้ลูกค้าได้เห็นความโหดร้ายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเครื่องหนังสุดหรู และเกิดความรู้สึกว่าอยากร่วมมือในการยุติการทรมานสัตว์แบบนี้"
ป๊อปอัพสโตร์แห่งนี้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าไฮเอนด์กลางกรุงเทพฯ ถูกตกแต่งไม่ต่างไปจากร้านเครื่องหนังสุดหรู เมื่อลูกค้าเปิดกระเป๋า หรือเสื้อหนังที่วางโชว์อยู่ในร้าน จะเห็นหัวใจของสัตว์เต้นอยู่ด้านใน เพื่อสื่อให้ทราบว่าสัตว์เหล่านี้ถูกถลกหนังทั้งเป็น และปล่อยให้ตายอย่างทรมานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ เจ้าหน้าที่ของร้าน จะคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการโชว์สินค้าและแคมเปญในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ลูกค้า
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมหรือร่วมรณรงค์ต่อต้านการใช้หนังสัตว์ได้ที่ PETAAsia.com/Skins