กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--ก.ล.ต.
(18 กรกฎาคม 2543) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แถลงมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับ 11 มาตรการเร่งด่วนสนับสนุนตลาดทุนไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ลงทุนและศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า "ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 8/2543 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 โดยมีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่ประชุม ได้มีการพิจารณาสภาวะตลาดทุนไทยในปัจจุบัน และเห็นว่าปัจจัยต่าง ๆ ในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ สืบเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งปัจจัยในประเทศยังอาจแบ่งออกเป็นปัจจัยนอกตลาดทุนและปัจจัยในตลาดทุน สำหรับปัจจัยในตลาดทุน คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติให้ผลักดันมาตรการสนับสนุนตลาดทุนไทย 3 ด้าน อันได้แก่ การเพิ่มอุปทาน (supply) การเสริมสร้างอุปสงค์ (demand) และการปรับปรุงโครงสร้างตลาด (market) รวม 11 มาตรการ เป็นการเร่งด่วน"
"มาตรการเพิ่มอุปทานในส่วนที่เป็นมาตรการเร่งด่วน ได้แก่
1) ผลักดันให้มีการกระจายหุ้นของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ทั้งรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนและบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น โรงไฟฟ้าราชบุรี การบินไทย ไทยออยล์พาวเวอร์ ไทยโอเลฟินซ์ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการยืนยันว่า การกระจายหุ้นของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวสามารถจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 ไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2544
2) จูงใจให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสำนักงานอยู่ระหว่างการประสานงานกับ BOI เพื่อกำหนดมาตรการจูงใจโดยการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเป็นพิเศษ
3) เพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนชาวไทยสามารถลงทุนในตราสารทางการเงิน ที่ทำให้ได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกับการลงทุนในต่างประเทศ (Exchange Traded Fund) ซึ่งตราสารนี้จะถูกกำหนดเป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายและนำมาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มปริมาณ
การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย ขณะนี้ สำนักงานอยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการพิจารณาอนุมัติการนำเงินออกนอกประเทศเพื่อการลงทุนในลักษณะดังกล่าว"
"ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นควรให้มีการวางรากฐานระยะยาวทางด้านการเพิ่มอุปทานโดย
4) สนับสนุนให้บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเตรียมความพร้อม ทั้งในด้านระบบบริหารงาน ระบบบัญชี และระบบควบคุมภายใน เพื่อให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติให้สำนักงานประสานงานกับกระทรวงการคลังในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต (hi-growth company) และกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (new economy) ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วยผู้แทนจากกรมสรรพากร BOI สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ทำการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย มาตรการจูงใจให้ผู้ลงทุนสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงสร้างที่เหมาะสมของผู้ลงทุนระยะยาว
5) เร่งให้มีสินค้าประเภทตราสารอนุพันธ์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของผู้ลงทุน โดยคาดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเริ่มเปิดการซื้อขาย index option ในปลายปีนี้ นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีนโยบายที่ชัดเจนในการที่จะผลักดันให้ พ.ร.บ. อนุพันธ์ฯ มีการออกใช้บังคับโดยเร็ว"
"สำหรับมาตรการเสริมสร้างอุปสงค์นั้น
6) การออก Non-Voting Depositary Receipt (NVDR) เป็นมาตรการสำคัญในการแก้ไขอุปสรรคกรณีผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศไม่สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่เป็นคนต่างด้าว (Thai Trust Fund : TTF) โดย NVDR มีแนวทางการจัดตั้งและประโยชน์เช่นเดียวกับ TTF ในลักษณะที่ NVDR เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ และบริษัทดังกล่าวจะเข้าไปซื้อหรือขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเมื่อผู้ลงทุนชาวต่างประเทศมีการซื้อหรือขายคืน NVDR ผู้ถือตราสาร NVDR จะได้รับผลตอบแทนทางการเงิน (financial benefits) เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียง ดังนั้น NVDR จะเป็นตราสารที่แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันของ TTF กล่าวคือ NVDR มิใช่หน่วยลงทุน และ NVDR ไม่มีข้อจำกัดของทางการเกี่ยวกับจำนวน NVDR ที่จะนำมาเสนอขายแก่ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศ"
"7) สนับสนุนให้มี internet trading ในวงกว้างเพื่อลดต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ ในการนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ริเริ่มโครงการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของ internet trading platform และศูนย์รวมการประมวลผล (back office facilities) อันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทหลักทรัพย์ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมาตรการสนับสนุน internet trading นี้ สอดคล้องกับนโยบายในการเปิดเสรีอัตราค่าธรรมเนียมการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากนี้
8) คณะกรรมการ ก.ล.ต. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างผู้ลงทุนสถาบันที่ลงทุนระยะยาวในลักษณะที่เป็นรูปธรรม โดยมาตรการระยะสั้น ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุโดยการใช้กองทุนรวมที่มีข้อกำหนดพิเศษเป็นเครื่องมือ (Retirement Mutual Fund : RMF) ในการนี้ กระทรวงการคลังได้มีนโยบายชัดเจนที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กองทุนรวมดังกล่าวในลักษณะเดียวกับที่ทางการให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และคณะกรรมการ ก.ล.ต. เชื่อมั่นว่าการจัดตั้ง RMF จะเป็นมาตรการที่เห็นผลอย่างชัดเจนในการเพิ่มอุปสงค์"
"ในส่วนของมาตรการปรับปรุงโครงสร้างตลาด คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นว่า
9) การปรับโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เป็นบริษัทเอกชน (corporatisation) เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ซึ่งหากการปรับโครงสร้างดังกล่าวประสบความสำเร็จแล้ว จะส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทที่ดำเนินงานเชิงธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และเปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่เน้นการกำกับดูแลไปเป็นการพัฒนาเพื่อขยายตลาดและธุรกิจหลักทรัพย์ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังกล่าว จะดำเนินการได้ภายหลังการแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรองรับการปรับโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้างต้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงให้ความเห็นชอบในหลักการที่
10) สำนักงานและตลาดหลักทรัพย์ฯ จะร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อให้มีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่าง 2 หน่วยงาน อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งจะลดภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้
11) คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพิจารณาลดอัตราค่าธรรมเนียมในการเป็นบริษัทจดทะเบียน"
"คณะกรรมการ ก.ล.ต. เชื่อมั่นว่า หากทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันดำเนินงานสำเร็จลุล่วงตามมาตรการที่กล่าวข้างต้น จะสามารถช่วยสนับสนุนตลาดทุนไทย จึงขอให้ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการจะส่งผลดีต่อไปในระยะยาว ในอนาคตตลาดทุนไทยจะเป็นตลาดทุนที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับตลาดทุนของต่างประเทศ และเป็นทางเลือกในการออมระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนแก่ประชาชน" นายประสารกล่าวสรุป--จบ--
-อน-