กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด (สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น) สมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) นำร่องการใช้บริการเครดิตสกอริ่งรายแรกของประเทศไทย สืบเนื่องธนาคารแห่งประเทศไทย อาศัยอำนาจตามข้อ 3 และข้อ 13 ของประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่องการจัดทำและเปิดเผยคะแนนเครดิตของบริษัทข้อมูลเครดิต ลงวันที่ 4 กันยายน 2558 เห็นชอบให้เครดิตบูโรจัดทำและให้บริการเครดิตสกอริ่งครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 เมษายน2559 ที่ผ่านมา และคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตได้มอบหมายให้เครดิตบูโรจัดทำเครดิตสกอริ่ง ให้เสร็จภายในเดือน มิถุนายน2559 ซึ่งจะมีผลต่อการจัดอันดับความยากง่ายการประกอบทำธุรกิจ (Ease of Doing Business ของธนาคารโลก (World Bank) รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2
ผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน ได้แก่ นายเอกราช ช่างเหลา ผู้จัดการ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น และนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ร่วมในพิธีลงนามใช้บริการเครดิตสกอริ่งรายแรกของประเทศไทย โดย นายเอกราช ช่างเหลา ผู้จัดการ สหกรณ์ครูขอนแก่น กล่าวถึงการลงนามในครั้งนี้ว่า "สหกรณ์มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่จะได้ใช้ระบบเครดิตสกอริ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเล็งเห็นความสำคัญอย่างยิ่งในการใช้บริการเครดิตสกอริ่ง เนื่องจากสหกรณ์จะได้มีข้อมูลเพื่อประโยชน์ที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้น้อยลง เพราะการมีประวัติชำระหนี้ที่ดีในเครดิตบูโร จะช่วยให้สมาชิกมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม"
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า "การที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นได้เห็นความสำคัญของเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงที่มีมาตรฐานสากลและตัดสินใจนำมาใช้เป็นปัจจัยหนึ่งร่วมกับปัจจัยอื่น อาทิ ข้อมูลจากใบสมัครสินเชื่อ ข้อมูลจากเครดิตบูโร เป็นต้น นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของคณะกรรมการดำเนินงานและผู้จัดการสหกรณ์เป็นอย่างมาก การใช้บริการเครดิตสกอริ่งรายแรกของประเทศไทยในครั้งนี้จึงเป็นการพิสูจน์ว่า สถาบันการเงินประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ดำเนินธุรกรรมในต่างจังหวัด ในกลุ่มลูกค้าที่ใครๆ ก็คิดว่าเสี่ยงสูงนั้น ก็สามารถยกระดับมาตรฐานการจัดการความเสี่ยงด้านสินเชื่อ(Credit Risk Management) ของตนเองให้ทัดเทียมกับมาตรฐานของสถาบันการเงินระดับโลกได้ ความมุ่งมั่นแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้การยกย่อง ปัจจุบันธนาคารโลก (World Bank) มีการจัดทำรายงานเปรียบเทียบการประกอบธุรกิจที่ "ยาก" หรือ "ง่าย" ในแต่ละประเทศ ที่เรียกว่า "Ease of Doing Business" ปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการประเมินร่วมกันกับอีกหลายๆ ปัจจัย คือเรื่องดัชนีความลึกของข้อมูลในเครดิตบูโร การให้บริการเครดิตสกอริ่งของเครดิตบูโรให้กับสมาชิกสถาบันการเงิน จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้คะแนนเพิ่มจาก 6 ใน 8 คะแนน เป็น 7 ใน 8 คะแนน และยังเป็นการบรรลุเป้าหมายในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ที่ผ่านมาอีกด้วย เครดิตบูโรจึงใคร่ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนในการผลักดันเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นกับระบบสถาบันการเงินไทยอีกครั้งหนึ่ง"