อย.ประกาศ 24 ก.ค.นี้ ดีเดย์บังคับใช้ GMP อาหาร

ข่าวทั่วไป Wednesday July 4, 2001 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--อย.
อย. ย้ำเตือนผู้ประกอบการ "24 กรกฎาคม 2544 ประกาศฯ GMP อาหาร มีผลบังคับใช้แล้ว" ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP ทันที ส่วนรายเดิมให้ผ่อนผันไปอีก 2 ปี เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้ได้ GMP ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยมากขึ้น สอดคล้องตามหลักสากล และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใหม่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว และเสริมมาตรการด้านความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยนำเอา GMP หรือหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 193 พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพพื้นฐานสำหรับสถานที่ผลิตอาหาร ที่ช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์และช่วยให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพและปลอดภัยสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ GMP จะมีการควบคุมถึงสถานที่ตั้งและอาคารที่ผลิต เครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณืการผลิต กระบวนการผลิต การสุขาภิบาล การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด รวมทั้งบุคลากร ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการผลิตให้สอดคล้องกับแนวทางสากล โดยให้อาหาร 57 ประเภท ทั้งที่เข้าข่ายโรงงานและไม่เข้าข่ายโรงงาน ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP ได้แก่ กลุ่มอาหารควบคุมเฉพาะ เช่น นมปรุงแต่ง นมเปรี้ยว ไอศกรีม เครื่องดื่ม น้ำแข็ง น้ำดื่ม ฯลฯ กลุ่มอาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป น้ำมัน น้ำปลา ชา กาแฟ ซอสถั่วเหลือง ฯลฯ กลุ่มอาหารที่ต้องมีฉลาก เช่น ขนมปัง หมากฝรั่ง ฯลฯ และอาหารทั่วไปที่มีปริมาณการส่งออกสูง ได้แก่ อาหารแช่เยือกแข็ง โดยตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 นี้เป็นต้นไป ผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องยื่นขออนุญาตตามระบบใหม่และต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP ทันที ขณะที่ผู้ประกอบการรายเก่าที่ได้รับอนุญาตผลิตอาหารอยู่ก่อนแล้ว จะให้โอกาสปรับปรุงมาตรฐานอีก 2 ปี ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการอาหารทั้ง 57 ประเภท จะต้องผลิตอาหารให้ได้ตามเกณฑ์ GMP ทุกราย
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใหม่นี้จะทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าอาหารที่บริโภคมีความสะอาดและถูกสุขอนามัย ได้รับความปลอดภัยมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการอาหารดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด GMP อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้น จะถือว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายใดต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเปิด Web-site ของสำนักงานฯ ได้ที่ http://www.fda.moph.go.th เลือกหัวข้อการปรับระบบอาหารและการปฏิบัติตาม GMP หรือรับฟังข้อมูลในสายด่วนผู้บริโภค กดหมายเลขโทรศัพท์ 1556 เลือกรหัส 1401-1413 หรือ ติดต่อสอบถามโดยตรงได้ที่กองควบคุมอาหาร หมายเลขโทรศัพท์ 590-7356 และ 590-7214 ทุกวันในเวลาราชการ--จบ--
-สส-

แท็ก อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ