กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--PRpedia
เอ็กซ์พีเดีย ชูประเด็น "นักท่องเที่ยวไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก"พร้อมเผยผลสำรวจเจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยในการเดินทาง
Expedia.co.th เว็บไซต์บริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ชูประเด็น "นักท่องเที่ยวไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก" พร้อมเปิดเผยข้อมูลจากผลสำรวจของ Expedia Sky Conduct Report เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจากหลายมุมโลกโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย
เอ็กซ์พีเดีย ตระหนักดีว่าความพึงพอใจของลูกค้าและการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ จึงร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ทางการตลาดชื่อดังอย่าง นอร์ธสตาร์ (Northstar) ทำการสำรวจและศึกษาเกี่ยวกับความนิยมและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว โดยการสุ่มตัวอย่างจากนักท่องเที่ยว จำนวน 11,026 คน จาก 22 ประเทศ อาทิ เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย, และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากผลสำรวจ พบว่า ภายในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวไทยกว่า 79% ที่เดินทางโดยสารเครื่องบินเพื่อธุรกิจ หรือเพื่อการพักผ่อนเป็นจำนวนสูงถึง 5 ครั้งต่อคน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มีเพียง 65% ซึ่งชี้ให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวไทยเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากนี้ ผลสำรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ยังแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวไทยมีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวชาติอื่นอย่างชัดเจนในเรื่องวัฒนธรรม วิถีการใช้ชีวิต มารยาท สังคมและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ไซม่อน ฟิเกต์ ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดีย ของเอ็กซ์พีเดีย กล่าวว่า "ข้อมูลจากการสำรวจและศึกษาครั้งนี้ชี้ชัดว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ทำเลที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางหลักในการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบาย ผลสำรวจยังบอกอีกว่านักท่องเที่ยวชาวไทยหลงไหลการใช้เทคโนโลยีจนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แม้แต่บนเครื่องบินก็มักจะเห็นว่านักท่องเที่ยวชาวไทยต้องมีโทรศัพท์มือถือและ หูฟังติดตัวระหว่างการเดินทางไปด้วยตลอด ซึ่งทั้งโทรศัพท์มือถือและหูฟังนั้น ถูกให้ความสำคัญมากกว่าน้ำเสียอีก ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่เอ็กซ์พีเดียให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าเรามีการพัฒนาเว็บและแอพพลิเคชั่นบนมือถืออย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวไทยได้ใช้เวลาในการเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และยังอยู่ภายในงบประมาณที่กำหนดไว้"
จากผลการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยยังระบุถึง 5 กิจกรรม ที่นักท่องเที่ยวไทยเลือกที่จะทำมากที่สุดระหว่างเดินทาง อันดับหนึ่งคือการนอนพักผ่อน ซึ่งมากถึง 57.1% รองลงมาคือการฟังเพลง 41.9% การรับประทานอาหาร 36% การอ่านหนังสือ/นิตยสาร 31.7% และการเล่นอินเตอร์เน็ต 26.5% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องเดินทางที่บินนานกว่า 10 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวชาวไทยจะเลือกการนอนหลับมากถึง 77% ในขณะที่การเลือกใช้ระบบความบันเทิงภายในเครื่องบินมี 56% และรับประทานอาหาร 52% ส่วนการลุกขึ้นเดินไปมาบนเครื่องบินนั้นนักท่องเที่ยวชาวไทยมีเพียง 16% ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นมีจำนวน 12% ซึ่งแตกต่างจากนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษและอเมริกันที่มีถึง 45% และ 39% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งของที่นักท่องเที่ยวขาดไม่ได้ หรือต้องนำติดตัวไประหว่างเดินทางบนเครื่องบิน ซึ่งผลสำรวจออกมาว่านักท่องเที่ยว ทั่วโลกได้จัดลำดับความสำคัญให้ "น้ำ" มาเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ อาหาร โทรศัพท์มือถือ หูฟัง และนิตยสารหรือ หนังสือพิมพ์ ตามลำดับ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยนั้นเลือกโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดมากถึง 54% และหูฟัง 37.9% โดยมีน้ำ ตามมาเป็นอันดับสาม 37.2% และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับสุดท้ายเพียง 3% ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียเลือกให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 14%
ในด้านของสิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่องบิน นักท่องเที่ยวชาวไทยให้ความสำคัญมากถึง 53% และยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อที่นั่งที่กว้างขึ้นและอาหารพิเศษอย่างครบชุด ( full meal) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องเดินทางในเที่ยวบินระยะไกล นานกว่า 12 ชั่วโมง ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องความสะดวกสบายคิดเป็น 43% และเรื่องอาหาร full meal คิดเป็น 54% ทั้งในกรณีที่เดินทางระยะใกล้หรือไกล นอกจากนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเดินทาง ซึ่งมีเพียง 14% เท่านั้นที่เลือกสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวชาวเม็กซิกันที่มีจำนวนสูงถึง 35%
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจระบุว่านักท่องเที่ยวชาวไทยนั้นเหมือนกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นในการพยายามเลี่ยงการชำระค่าธรรมเนียมสัมภาระสูงถึง 69% โดยที่ 59% เลือกใช้วิธีจัดของในกระเป๋าให้มีน้ำหนักเบากว่าเกณฑ์กำหนด อีก 63% ตัดสินใจไม่เช็คอินกระเป๋าเพราะไม่ต้องการเสียเวลารอรับ และ 51% ไม่เช็คอินกระเป๋า เพื่อป้องกันกระเป๋าสูญหาย