กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
คณะกรรมการ บมจ.กรุ๊ปลีส หรือ GL ผู้บุกเบิกธุรกิจดิจิตอลไฟแนนซ์ในอาเซียน มีมติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ให้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (GL W-4) จำนวน 170 ล้านหน่วย โดยออกให้ผู้ถือหุ้นในอัตรา 9 หุ้นเดิมต่อ 1 วอแรนท์ กำหนดเงื่อนไขการแปลงสภาพ 1 วอแรนท์ ต่อ 1 หุ้นสามัญ ในราคาแปลงสภาพ 40 บาท ภายในระยะเวลา 2 ปีนับจากวันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ พร้อมออกหุ้นกู้แปลงสภาพอีกไม่เกิน 130 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กลุ่มพันธมิตรญี่ปุ่นบริษัท J Trust Asia โดยกำหนดราคาแปลงสภาพ 1 หุ้นกู้ต่อ 1 หุ้นสามัญ ในราคา 40 บาท ภายใน 5 ปี ซึ่งหากผู้ถือหุ้นและกลุ่ม J Trust Asia ใช้สิทธิแปลงสภาพทั้งหมดจะทำให้ GL มีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนการรุกธุรกิจครั้งใหญ่ในอาเซียน
"เราจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพื่อขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจมีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วในทุกๆ ตลาดที่ GL ดำเนินธุรกิจอยู่ โดยยังไม่นับรวมถึงตลาดใหม่ๆ ที่เราเตรียมตัวจะรุกเข้าไป ตลอดจนโอกาสในการควบรวมกิจการในภูมิภาคอาเซียน" นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวชี้แจง
สำหรับจำนวนใบสำคัญแสดงสิทธิ 170 ล้านหน่วย ซึ่งบริษัทฯ มีมติแจกฟรีให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น หากผู้ถือหุ้นใช้สิทธิแปลงสภาพทั้งหมด ณ ราคา 40 บาทต่อหน่วย ภายในกำหนด 2 ปี บริษัทฯ จะได้เงินทุนก้อนใหม่จำนวนทั้งสิ้น 5,950 ล้านบาท ขณะที่หุ้นกู้แปลงสภาพนั้นออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ กำหนดระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% จะเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ทันที โดยมติของคณะกรรมการทั้ง 2 เรื่องในครั้งนี้จะนำเสนอต่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 24 มิถุนายน 2559 เพื่อขอความเห็นชอบก่อนดำเนินการ
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิและสิทธิแปลงสภาพของหุ้นกู้แปลงสภาพ โดยอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 285.05 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท แบ่งเป็นการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 170 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการใช้ใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 115.05 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพของหุ้นแปลงสภาพ ซึ่งการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ ดังกล่าวจะนำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติด้วย
นายมิทซึจิ แสดงความมั่นใจว่า ตลาดกัมพูชายังมีปัจจัยพื้นฐานและศักยภาพขยายตัวได้อีกมาก โดยยอดสินเชื่อปล่อยกู้ในกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 44 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐภายในสิ้นปีนี้และขยายอย่างก้าวกระโดดอีกเท่าตัวเป็นประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 จึงหมายความว่า เฉพาะจากการเติบโตของธุรกิจในกัมพูชาในปัจจุบันนี้ ก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยกลุ่ม GL จะใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักในการปล่อยสินเชื่อในกัมพูชา ซึ่งได้ขยายจากสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในอดีตมาครอบคลุมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร แผงโซลาร์เซลล์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาธุรกิจในกัมพูชายังได้ขยายไปครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ ที่ GL นำไปปล่อยกู้ในรูปแบบสินเชื่อเช่าซื้อให้กับลูกค้า
ส่วนเงินทุนก้อนใหม่ ที่ GL จะได้รับการแปลงวอแรนท์ในรูปสกุลเงินบาทนั้น บริษัทฯ จะนำไปใช้สนับสนุนการขยายธุรกิจใน สปป.ลาว และการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ตลอดจนการขยายธุรกิจของบริษัทธนบรรณ ซึ่งมีแผนงานชัดเจนในการขยายธุรกิจโดยเพิ่มการให้สินเชื่อกับลูกค้าใหม่สำหรับรถมือสอง ตลอดจนการให้สินเชื่อกับเจ้าของรถมอเตอร์ไซต์ปัจจุบันที่ต้องการใช้เงินเร่งด่วน สำหรับเงินสกุลบาทอีกส่วนที่ได้จากแปลงวอแรนท์นั้น จะสำรองเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนการรุกขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการควบรวมกิจการต่อไป
นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานคณะกรรมการบริหาร GL กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา GL ได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI GLOBAL SMALL CAP INDEXES (GLOBAL STOCK INDEX) ที่จัดทำโดย MSCI หรือ Morgan Stanley Capital International ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นต่างประเทศที่มีชื่อเสียงที่สุดในฐานะเป็นผู้ให้บริการจัดทำดัชนีและเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการลงทุนที่เป็นสากล โดยมีกองทุนขนาดใหญ่จำนวนมากที่ใช้ดัชนีดังกล่าวเป็นเกณฑ์มาตรฐานอ้างอิงเพื่อตัดสินใจลงทุน
"เรามีความยินดีและภูมิใจที่ GL ได้รับคัดเลือกเป็นหลักทรัพย์ในการคำนวณดัชนีที่มีชื่อเสียงของ MSCI ซึ่งสะท้อนถึงพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง เห็นได้จากมาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้น GL ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการได้รับคัดเลือกในครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลดีต่อ GL เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากกองทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพิ่มโอกาสที่มาร์เก็ตแคปจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต" นายทัตซึยะ กล่าว
นายทัตซึยะ กล่าวต่อว่า GL ได้ปรับโมเดลธุรกิจใหม่สู่ 'ดิจิตอลไฟแนนซ์' ภายใต้รูปแบบ FinTech (Financial Technology) ที่มีการนำระบบไอทีเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การเข้าถึงลูกค้าในแต่ละประเทศได้อย่างทั่วถึง การควบคุมต้นทุน ฯลฯ ตลอดจนสร้างความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นในธุรกิจไฟแนนซ์เพื่อรุกขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา สปป.ลาว และอินโดนีเซียรวมถึงประเทศอื่นๆ ในอนาคต นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจเชิงรุกควบคู่กับการควบคุม NPL ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยให้บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานและกำไรเติบโตอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมา โดย GL ประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจในอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2555 หรือ 4 ปีที่ผ่านมาและเมื่อปลายปีที่ผ่านมา GL เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าสู่การคำนวณในดัชนี SET 100 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และทำให้มาร์เก็ตแคปเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 42,549 ล้านบาท
ทั้งนี้ ความสำเร็จของ GL ยังรวมถึงการทำกำไรสุทธิที่เป็นสถิติใหม่สูงสุดติดต่อกัน 6 ไตรมาส นับจากไตรมาส 3/57 ถึงไตรมาส 1/59 ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2559 คาดว่าจะมีผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง จากการขยายพอร์ตสินเชื่อในไทย กัมพูชา สปป.ลาว และการรุกตลาดอินโดนีเซียที่อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่ากัมพูชาถึง 10 เท่า จากจำนวนประชากรที่มีถึง 250 ล้านคน
โดย ณ สิ้นปีที่ผ่านมา GL มีพอร์ตสินเชื่อในไทยและต่างประเทศรวม 9,147 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นประเทศไทยกว่า 40% กัมพูชาประมาณ 25% สิงคโปร์ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ 30% และส่วนที่เหลือมาจาก สปป.ลาว ขณะที่ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโตขึ้น 30-40% จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่กัมพูชาคาดว่าในปีนี้พอร์ตสินเชื่อจะเติบโตเป็น 2 เท่าและ สปป.ลาวคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 3-5 เท่า จากความต้องการสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ เครื่องจักรกลการเกษตร KUBOTA และแผงโซลาร์เซลล์ที่ขยายตัวอย่างมาก
"เรามั่นใจว่าจะทำผลการดำเนินงานในปีนี้เติบโตได้ก้าวกระโดด และถึงแม้พอร์ตสินเชื่อของเราจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังมุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยที่กัมพูชามีสัดส่วน NPL ณ สิ้นไตรมาสแรกที่ผ่านมาต่ำกว่า 2% ส่วนในไทยมีสัดส่วน NPL 6.5% และตั้งเป้าลดลงเหลือ 5% ภายในปีนี้" นายทัตซึยะ กล่าว