กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผนึกกำลัง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมการนำผลงานการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาธุรกิจในเชิงนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมไทย วันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ 1.เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการในการสร้างเครือข่ายและสร้างความร่วมมือส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ 2.เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างกันตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล ในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานคุณภาพของสินค้า การบริการของไทยให้เป็นสากล เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นของประเทศคู่ค้าและผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ ๒ ปี และให้มีผลบังคับใช้ต่อไปอีกคราวละ ๒ ปี
"...ปัจจุบันนวัตกรรมนับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์และนโยบายหลักของรัฐบาล ในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งทุกสาขาธุรกิจจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้น วว. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงเล็งเห็นความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยกระดับมาตรฐานคุณภาพของสินค้าและบริการให้เป็นสากล ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นของประเทศคู่ค้าและผู้บริโภคทั้งตลาดในและต่างประเทศ..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้เน้นเรื่องสำคัญๆ คือ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อาหารไทยบนฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญา โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูง เข้ามาใช้ในการพัฒนา และปรับกระบวนการผลิตสู่ระบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ โดยจะเน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster) ตามสาขาอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา
ซึ่งได้มีการกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยอย่างชัดเจน โดยรัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมและพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริมศักยภาพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของ Value Chain และนำไปสู่การสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เสริมสร้างศักยภาพ และดึงดูดการลงทุน ทั้งจากนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่ ตลอดจนกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยมีคลัสเตอร์เป้าหมายหลัก (Super Cluster) 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน 2. คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม 3.คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 4.คลัสเตอร์ดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-curve) ได้ใน 2 รูปแบบ คือ First S-curve ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้ปัจจัยผลิต โดยการลงทุนชนิดนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในระยะสั้นและระยะกลาง โดยการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ซึ่งประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา ในรูปแบบที่ 2 คือ New S-curve ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบของการลงทุน ในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศ ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และ 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
"....สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการนำผลงานวิจัย และพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้พัฒนาธุรกิจเชิงนวัตกรรม และเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมไทยในวันนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน มีกรอบความร่วมมือในการส่งต่อผู้รับบริการระหว่างกัน รวมถึงการกำหนดแนวทางที่จะขยายผลการลงนามความร่วมมือกับ กระทรวงพาณิชย์ ในโอกาสต่อไปด้วย..." รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าว
ขอบเขตความร่วมมือภายใต้โครงการฯ มีดังนี้ 1.บูรณาการการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริม การยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบการ บูรณาการการบริการให้คำปรึกษาแนะนำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต และมาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย 2.ให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์หรือบริการ และกิจกรรมของ "วว." และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยในเครือข่ายของทั้งสองหน่วยงาน 3.ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างองค์กร ในการกำหนดแนวทางการพัฒนางานวิจัย ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4.จัดฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมไทยระหว่างบุคคลทั้งสองฝ่ายและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และ 5.ส่งเสริมการพัฒนา สนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ในสาขาอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคต