อัคราฯ ขอความเป็นธรรม วอนภาครัฐหาความจริงย้ำยินดีให้ความร่วมมือทุกด้าน พร้อมเดินหน้าให้ความรู้ เพื่อลดความขัดแย้ง

ข่าวทั่วไป Tuesday May 24, 2016 12:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่น สืบเนื่องจากผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา มีมติยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศ ในส่วนของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 หลังจากนั้นให้ทางบริษัทปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ตามแผนที่วางไว้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทางบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินงานเหมืองแร่ทองคำชาตรี ขอวิงวอนให้ภาครัฐหาข้อสรุปด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กระจ่างตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และคลายความกังวลใจที่เกิดขึ้นในชุมชน นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ทางบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จะประหลาดใจต่อมติของคณะรัฐมนตรีที่เห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เท่านั้น และให้ทางบริษัทฯ ปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีลง แต่ก็เข้าใจถึงเหตุผลการตัดสินใจดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อลดความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่ามาจากการดำเนินงานของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ดังนั้น บริษัทใคร่ขอวิงวอนให้ภาครัฐเห็นใจผู้ประกอบการที่ดำเนินงานตามกฎหมายและใส่ใจต่อชุมชนบริเวณรอบเหมืองมาโดยตลอด โดยขอเรียกร้องให้ภาครัฐ • ดำเนินการหาข้อเท็จจริงของสาเหตุความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ตามหลักของวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำ • บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือในทุกด้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความจริงปรากฎชัด ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานที่เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังไม่ได้รับหนังสือข้อสั่งการอย่างเป็นทางการจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูล รายละเอียดแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ได้ และ ยังไม่มีนโยบาย แนวทางในการใช้มาตรการทางกฎหมาย เนื่องจากต้องการดูข้อสั่งการอย่างละเอียด เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ด้านมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ บริษัทได้ดำเนินการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการประกอบกิจการอยู่แล้ว ตามแผนการดำเนินงานภายใต้มาตรการ EHIA อย่างเคร่งครัด แต่หากเหมืองแร่ทองคำชาตรีต้องปิดดำเนินการลงในระยะเวลาอีก 7 เดือนข้างหน้า ทางบริษัทจะต้องดำเนินการปรับแผนการทำงานใหม่ นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้บริษัทจะเร่งเดินหน้าโครงการ "ให้ความรู้ สู่การลดความขัดแย้ง" เนื่องจากเราเชื่อว่าความขัดแย้งที่เกิดในพื้นที่เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการไม่เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำตามมาตรฐานในระดับสากล จึงทำให้เกิดความกังวลในคนบางกลุ่ม ซึ่งหากคนเหล่านั้นได้รับข้อมูลที่เพียงพอ เช่น ข้อมูลของสารโลหะหนัก เกณฑ์มาตรฐาน ผลที่เกิดต่อสุขภาพ ตามหลักวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งประชาชนในชุมชนเอง และบริษัทฯ ให้สามารถดำเนินงานอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน "บริษัทฯ เองก็ไม่นิ่งนอนใจ เตรียมร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกด้านในการเร่งให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะเราเชื่อว่าการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องคือหนทางสู่การลดความขัดแย้ง และแน่นอนว่าความตั้งใจดี ความจริงใจในการแก้ปัญหา และข้อเท็จจริงที่ทางบริษัทฯ มี จะสามารถลดความขัดแย้ง และทำให้เกิดความกระจ่าง จนส่งผลให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้" นายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากการปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรี หลังมติออกมาให้ปิดเหมืองภายในปี 2559 เนื่องจากจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานและครอบครัวกว่า 4,000 คน ต้องขาดรายได้ และต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานยังพื้นที่อื่น จากการปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีจะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการดำเนินงานของเหมืองทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจในชุมชน เกิดการจ้างงานต่อเนื่องเป็นลูกโซ่หลายพันคน การกระจายรายได้สู่ภาคธุรกิจต่างๆ ในท้องที่ อาทิ ธุรกิจที่พักอาศัย รีสอร์ต ร้านอาหาร ต่างก็ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้กันอย่างถ้วนหน้า ทำให้เกิดเงินสะพัดในท้องที่กว่า 4 พันล้านบาทต่อปี ด้านนายคมสัน ขวัญแก้ว อายุ 43 ปี ชาวบ้านหมู่ 8 บ้านนิคม ต.เขาเจ็ดลูก ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานห้องทอง บมจ.อัคราฯ กล่าวถึงการทำงานในเหมืองอัคราว่า "ผมมั่นใจในเหมืองอัครา ผมทำงานอยู่กับสารเคมีมามากกว่า 15 ปี ผมตรวจสุขภาพทั้งของบริษัทเองและจากที่อื่นก็ยังไม่พบสารใดๆ แม้แต่ไซยาไนด์ที่ใช้ในกระบวนการสกัดทองคำที่หลายคนกลัว สุขภาพของผมก็ยังแข็งแรงปกติดี ครอบครัวของผมก็อาศัยอยู่ใกล้เหมือง หากมีการรั่วไหลของสารเคมีจริงผมก็คงไม่เอาตัวเองและครอบครัวมาเสี่ยง และก็คงไม่อยากให้อัคราอยู่ แต่พอได้ยินข่าวว่าเหมืองโดนสั่งปิดก็ช็อค ทำอะไรไม่ถูกเลย เพราะมีผมคนเดียวเป็นคนหารายได้ให้กับครอบครัว ลูกก็ยังเรียนอยู่ อีกทั้งพ่อแม่ที่ต้องดูแล และภาระหนี้สิน" ทั้งนี้นายคมสันยังตั้งคำถามกับรัฐบาลอีกว่า ยุติธรรมกับตนและพนักงานคนอื่นๆ แล้วหรือที่ตัดสินว่าเหมืองเป็นสาเหตุทำให้สารเคมีรั่วไหล แม้ว่าจะไม่มีใครกล้าออกมาฟันธงเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไตร่ตรองผลการพิจารณาอีกครั้ง ผมเป็นคนในพื้นที่ตัวจริง ขอเป็นตัวแทนเพื่อนๆ พนักงาน ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเห็นใจพี่น้องพนักงาน ครอบครัว และธุรกิจในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีใน ปี 2559 นี้ โดยพวกเรากว่าครึ่งหมื่นจะไม่มีอนาคต "พวกเราพนักงานจะไม่มีงานทำ บางคนมีอายุมากก็ยิ่งหางานทำได้ยาก และโดยเฉพาะในจังหวัดเองก็ไม่มีอะไรให้ทำ หากเหมืองแร่ทองคำชาตรีปิด เราต้องย้ายไปทำงานในจังหวัดอื่น ต้องห่างจากครอบครัว พ่อ แม่ ลูกจะไม่ได้อยู่พร้อมหน้า พวกเราไม่ต้องการรับเงินชดเชยเพียงเท่านั้น แต่พวกเราต้องการที่จะมีอนาคตที่ดีในบ้านเกิดของพวกเรา" นายคมสันกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ