กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--Image Solution
สศอ.เร่งสร้างกลยุทธ์เชื่อมโยงอุตสาหกรรมการผลิตและบริการต่อยอดพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศยกระดับระบบเศรษฐกิจไทย เทียบประเทศที่พัฒนาแล้ว
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยจะยกระดับให้เทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จำเป็นจะต้องเพิ่มบทบาทอุตสาหกรรมบริการซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ของไทยทรงตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50มาเป็นเวลานาน ให้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนของภาคบริการร้อยละ 70-80 ของ GDP และมีสัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการที่สูงสอดคล้องกัน รวมทั้งผลิตภาพของแรงงานในภาคบริการของประเทศเหล่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น สศอ.จึงได้ร่วมกับ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัดในฐานะที่ปรึกษาดำเนิน "โครงการศึกษากลยุทธ์การสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมบริการของไทย ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ" ศึกษาและวิเคราะห์ภาพรวมของอุตสาหกรรมบริการในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต ภายใต้บริบทความตกลงการค้าเสรีของไทย (FTA) โดยได้ทำการศึกษาใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วย 1. อาหารแปรรูป 2. ยานยนต์และชิ้นส่วน 3. ปิโตรเคมี พลาสติกและผลิตภัณฑ์ 4. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ 5. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวล้วนมีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยทั้งในด้านของมูลค่าการผลิต การค้าระหว่างประเทศ และการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากความตกลงการค้าเสรีของไทยกับประเทศต่างๆ
ทั้งนี้จากผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า สาขาการบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 5 ประเภท ได้แก่ 1.สาขา บริการทางธุรกิจ (Business Services) ประกอบด้วยสาขาบริการย่อยได้แก่ การบริการด้านวิศวกรรม การบริการวิจัยและพัฒนา การบริการให้คำปรึกษาด้านการจัดการและการตลาด การบริการทดสอบและตรวจสอบคุณภาพสินค้าและวัตถุดิบ การบริการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ป่าไม้ ล่าสัตว์ ประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การบริการจัดหาพนักงาน การบริการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการบริการบรรจุหีบห่อ
2.สาขา บริการจัดจำหน่าย(Distribution Services) ประกอบด้วยสาขาบริการย่อยได้แก่ การบริการจัดจำหน่ายปลีก และการบริการจัดจำหน่ายส่ง 3.สาขา บริการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Services) ประกอบด้วยสาขาบริการย่อย ได้แก่ การบริการกำจัดของเสียและบำบัดของเสียอุตสาหกรรม 4.สาขา บริการทางการเงิน (Financial Services) ประกอบด้วยสาขาการบริการย่อย ได้แก่ การบริการประกันวินาศภัย และ 5.สาขา บริการการขนส่ง(Transportation Services) ประกอบด้วยสาขาบริการย่อยที่สำคัญ ได้แก่ การบริการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ และการบริการคลังสินค้า
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป สศอ. จะทำการประเมินผลกระทบด้านบวกและด้านลบต่อสาขาอุตสาหกรรมบริการ เพื่อนำไปสู่แนวทางการปรับตัวและจัดทำข้อเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าระหว่างประเทศของไทย และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมบริการในด้านต่างๆ โดยจะจัดการสัมมนาและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละกลุ่มทั้งภาคการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้องในวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 เวลา 09.00 น. ณ. โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก คาดว่าผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะสามารถเผยแพร่ได้ในเดือนสิงหาคม ศกนี้
อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา ธุรกิจการบริการของไทยสาขาการผลิตที่มีการขยายตัว ได้แก่ การบริการด้านวิศวกรรม การบริการวิจัยและพัฒนา การบริการให้คำปรึกษาด้านการจัดการและการตลาด การบริการทดสอบคุณภาพและวัตถุดิบ การบริการจัดหาพนักงาน การบริการจัดจำหน่ายปลีกและส่ง การบริการกำจัดของเสียและการบำบัดของเสียอุตสาหกรรม การบริการประกันวินาศภัย และการบริการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ส่วนธุรกิจการบริการที่มีการหดตัวลงในปีที่ผ่านมา ได้แก่ การบริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และการบริการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยการบริการทั้งสองสาขานี้ มีระดับการผูกพันการเข้าสู่ตลาดบริการที่ต่ำมาก