กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--พีอาร์ดีดี
นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมการลงทุนในขณะนี้ยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงหลักเรื่องการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่ทั้งนี้บลจ.ไทยพาณิชย์ มองว่ายังมีสินทรัพย์ที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบที่ดีโดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯและยุโรป
เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง จากอัตราการจ้างงานที่กลับเข้าสู่ระดับปกติและการบริโภคซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับเข้าสู่วัฏจักรการเติบโตรอบใหม่ โดยราคาหุ้นขนาดเล็กเริ่มปรับฐานมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2015จนถึงปัจจุบัน และยังมีระดับราคาที่น่าสนใจกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ นอกจากนี้นักวิเคราะห์ต่างชาติยังคาดการณ์การเติบโตของผลกำไรต่อหุ้น (EPS) ของหุ้นขนาดเล็กนั้นจะสามารถเติบโตได้ร้อยละ 56.27 สูงกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 14.95 (ที่มา Bloomberg ณ วันที่ 23/05/2559)
ขณะที่ในส่วนของยุโรปนั้นธนาคารกลางยุโรปยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้นโยบายการเงินทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบและการซื้อสินทรัพย์(QE) นั้น ทำให้ผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรยังคงอยู่ในระดับต่ำจนถึงติดลบต่อไป และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเติบโตในปีต่อๆ ไป ซึ่งทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในหุ้นมากขึ้น โดยมองว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มจะพื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และประกอบกับนโยบายการสนับสนุนการเร่งปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กจะช่วยให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถเข้าถึงสภาพคล่องและเม็ดเงินลงทุนได้มากขึ้น และมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงมาก ซึ่งจะส่งผลดีกับผลประกอบการของหุ้นขนาดเล็ก (EPS) ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้มากถึงร้อยละ 201.59 ต่อปีและคาดว่าจะเติบโตมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ซึ่งจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 86.35 ต่อปี (ที่มา Bloomberg ณ วันที่ 23/05/2559)
นายสมิทธ์ กล่าวว่า บลจ.ไทยพาณิชย์เตรียมที่จะออกกองทุนเพื่อลงทุนในหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ และยุโรป โดยเสนอขายระหว่างวันที่ 24-30พฤษภาคม 2559 ด้วยมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท พร้อมกัน 2 กองทุน คือกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ยูเอสสมอลแคป (SCB US Small Cap Equity Fund) มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปสมอลแคป (SCB European Small Cap Equity Fund)มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 กองทุนอาจเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกัน ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามความเหมาะสมสำหรับภาวะการณ์ในแต่ละขณะ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
สำหรับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ยูเอสสมอลแคป เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ U.S. Small Companies Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) Accumulation และลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD)โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งกองทุนหลักจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศไอร์แลนด์(Ireland) และอยู่ภายใต้ UCITS (มาตรฐานเพื่อการซื้อขายกองทุนข้ามประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป: Undertaking for Collective Investments in Transferable Securities) บริหารงานโดย Dimensional Funds PLC ทั้งนี้กองทุนหลักมีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดเล็กในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งพิจารณาจากมูลค่าตามราคาตลาดเป็นสำคัญ โดยทั่วไปแล้วจะมีการกระจายการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทขนาดเล็กผ่านตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หรือซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 12.06% ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ดัชนี RUSSEL 2000 ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 11.65%
ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปสมอลแคป เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว ได้แก่ European Smaller Companies Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) D accumulating สกุลเงินยูโร โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS บริหารโดย Standard Life Investment โดยกองทุนหลัก มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กในทวีปยุโรปและหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทรัพย์ของบริษัทที่จัดตั้งหรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในทวีปยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักรและตลาดเกิดใหม่ในยุโรป หรือบริษัทที่ได้รับรายได้หรือผลกำไรจากการดำเนินงานในทวีปยุโรป และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึงร้อยละ 71.29 ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ดัชนี FTSE Small Cap Developed Europe ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ร้อยละ 45.28 (ที่มา Bloomberg ณ วันที่ 20/05/2559)
นายสมิทธ์ มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ หากปรับขึ้นเร็วและแรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์อาจส่งผลกระทบให้หุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ มีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าหุ้นขนาดใหญ่ได้ แต่หากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ตลาดคาดก็เชื่อว่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก ขณะที่หุ้นขนาดเล็กยุโรปนั้นก็มีปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกันคือการลงประชามติเรื่องที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปนั้นอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจยุโรปในภาพรวม และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อผลประกอบการของหุ้นขนาดเล็ก อย่างไรก็ดีผลสำรวจล่าสุดฝ่ายที่อยากอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปยังมีจำนวนมากกว่าเล็กน้อย นอกจากนี้เรื่องหนี้ของกรีซซึ่งมีกำหนดการเจรจาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงปลายเดือนมิถุนายนนั้นอาจส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปเกิดความไม่แน่นอนได้ อย่างไรก็ดีด้วยนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องที่มากเป็นประวัติการณ์และคำมั่นของธนาคารกลางยุโรปที่จะทำทุกวิถีทางที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจยุโรปให้มีเสถียรภาพ น่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นยุโรปสามารถผ่านความผันผวนระยะสั้นไปและเติบโตอย่างต่อเนื่องได้