กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 เพื่อรองรับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ.2572 โดยเชื่อมโยงแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามความตกลงปารีส เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสาธารณภัยจากภาวะโลกร้อน รวมถึงเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนทุกรูปแบบ ตลอดจนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นกลไกในการจัดการปัญหาภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียจากภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ภาวะโลกร้อนวิกฤตมากขึ้น ส่งผลให้สาธารณภัยมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อรับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) สำหรับเป็นกติกาบังคับใช้กับ 195 ประเทศภาคีสมาชิก รวมถึงสหภาพยุโรป โดยมีแผนการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – 2572 ให้บรรลุเป้าหมายหลักในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้น้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนประเทศไทยร่วมลงนาม "ความตกลงปารีส (Paris Agreement)" เพื่อแสดงเจตจำนงของประเทศไทยในการร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ.2572 ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ด้านนโยบายของประเทศ โดยปรับกระบวนทัศน์ "รุกรับ ปรับตัว" สู่การพัฒนาที่มีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ 2) ด้านระบบฐานข้อมูล โดยจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) ด้านการจัดทำแผนและมาตรการภายในประเทศ โดยกำหนดมาตรการเชิงบูรณาการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4) ด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อให้หน่วยงานและบุคลากรร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามความตกลงปารีส 5) ด้านข้อมูลกลไกการดำเนินงาน โดยจัดทำข้อมูลการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถที่ประเทศไทยต้องการรับการสนับสนุนจากกลไกภายใต้อนุสัญญา และ 6) ด้านการเจรจา โดยเตรียมความพร้อมในการเจรจา จัดทำรายละเอียด กฎเกณฑ์ กติกา ภายใต้ความตกลงปารีส ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะองค์กรกลางบูรณาการ ด้านการจัดการสาธารณภัยของประเทศ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว โดยเชื่อมโยงแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของโลกด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศตามความตกลงปารีส เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างบูรณาการและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสาธารณภัยจากภาวะโลกร้อน รวมถึงเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนทุกรูปแบบ ตลอดจนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นกลไกในการจัดการปัญหาภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนอย่างเป็นระบบ เพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียจากภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนวาระ "ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)"
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th