กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย
ทนายเนชั่นโต้นิวส์ให้ข่าวคลาดเคลื่อน ผู้บริหารเนชั่นไม่ได้สร้างความเสียหายต่อบริษัท ขณะที่รายย่อยชม ประธานเนชั่นทำถูกต้อง กล้าตัดสินใจเพื่อบริษัท
นายปรีชญา อิบราฮิม ที่ปรึกษากฎหมายของบมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป กล่าวถึงกรณีที่ที่ปรึกษากฎหมายของบมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น ให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนบางแห่งว่า ผู้บริหารเนชั่นได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์บริษัทและมีการฟ้องร้องบริษัทคิดเป็นมูลค่า 40 ล้านบาทว่า ในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย ตนเห็นว่า ผู้บริหารเนชั่นได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบตามกฎหมาย และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด เนื่องจากประธานกรรมการของบริษัทในขณะนั้น คือ นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา เห็นว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายอาจจะมีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงตัดสินใจใช้อำนาจประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นห้ามกลุ่มดังกล่าวเข้าร่วมประชุม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท นอกจากนี้การประชุมในทุกวาระเป็นเรื่องปกติ เช่น รับทราบจ่ายเงินปันผลซึ่งไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ให้บริษัทเลย
"หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้การประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนั้นเป็นโมฆะ บริษัทอาจจัดประชุมใหม่ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีมติในเรื่องต่างๆ ที่จำเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้ บริษัทและผู้ถือหุ้นย่อมจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆ" ที่ปรึกษากฎหมายบมจ. เนชั่น อธิบาย
นายปรีชญายังกล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่า ผู้บริหารเนชั่นจะได้รับโทษหนักทางอาญาเพราะศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาให้การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทเนชั่น ปี 2558 เป็นโมฆะว่า ข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะขณะนี้ไม่มีการฟ้องคดีอาญาเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้น
ด้านนายปัญญา ฉัททันต์รัศมี นักลงทุนรายย่อยผู้ถือหุ้นเนชั่นรายหนึ่ง ให้ความเห็นถึงการกระทำของประธานกรรมการบริษัทเนชั่นในขณะนั้นว่า ถือเป็นการทำหน้าที่ที่ยุติธรรม เพราะตัดสิทธิไม่ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้โหวต และในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ตนมั่นใจในผู้บริหารเดิมที่เป็นมืออาชีพด้านสื่อมากกว่าบุคคลที่เข้ามาใหม่เพราะยังไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง ดังนั้นถ้าให้ลงมติใหม่ ก็ยังสนับสนุนผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม
ขณะที่นักลงทุนรายย่อยอีกรายกล่าวว่า การตัดสินใจของประธานกรรมการเนชั่นเป็นการปกป้องบริษัทไม่ให้ได้รับความเสียหายจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ เพราะขณะนั้น ก.ล.ต. ยังไม่ได้ตัดสินว่า กลุ่มดังกล่าวมีพฤติกรรมมุ่งครอบงำกิจการเนชั่น การตัดสินใจของประธานฯ จึงเป็นความกล้าหาญที่ยืนอยู่บนหลักการปกป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทและรายย่อย ในทางตรงข้าม ถ้าประธานฯ ไม่สั่งการดังกล่าว บริษัทเนชั่นคงได้รับความเสียหายไปแล้ว
"ถ้าบริษัทปล่อยให้พวกกลุ่มครอบงำกิจการสามารถโหวต หรือลงมติได้ โดยที่ยังไม่มีคำตัดสินของทางการออกมา บริษัทคงจะได้รับความเสียหายไปแล้ว และเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ขอถามว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบ"