กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้ขยายความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆของจีนเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จากการลงนามในข้อตกลงสามฉบับที่เมืองปักกิ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายในการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจีน การส่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนมาสอนที่สถาบันเอไอที และอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะจัดหลักสูตรทางวิชาการร่วมกันเพื่อรองรับทางรถไฟความเร็วสูง
ทั้งนี้ ศ. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย อธิการบดีสถาบันเอไอที ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ Beijing Institute of Technology (BIT) และ China Scholarship Council (CSC) อีกทั้งต่อสัญญาข้อตกลงกับ Beijing Jiaotong University (BJTU)
ข้อตกลงระหว่างสถาบันเอไอทีกับ BJTU นั้นคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเปิดหลักสูตร Dual Professional Master's Degree Program ทางด้านทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเปิดสอนร่วมกันโดยสองมหาวิทยาลัย
BJTU ได้ริเริ่มหลักสูตรสำหรับนักศึกษาต่างชาติจำนวน 20 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงพาณิชย์ของจีน ในขณะที่สถาบันเอไอทีกำลังวางแผนที่จะมีหลักสูตรทางด้านเทคโนโลยีทางรถไฟเช่นกัน โดยในปีแรกของการศึกษาที่สถาบันเอไอที จะเน้นการศึกษาในชั้นเรียน (coursework) ตามด้วยการเรียนในห้องปฏิบัติการขั้นสูงและฝึกวิชาชีพที่ BJTU ในช่วงปีที่สอง
ในข้อตกลงกับ BIT ซึ่งลงนามในวันที่ 6 พ.ค. 2559 โดย ศ.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัยและ Prof. Zhang Wei ประธานสภามหาวิทยาลัยของ BIT มุ่งที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การส่งอาจารย์รุ่นใหม่จาก BIT มาสอนที่สถาบันเอไอที และการจัดค่ายนานาชาติช่วงฤดูร้อนสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ทั้งสองสถาบันการศึกษา
Prof. Zhang Wei เป็นศิษย์เก่าของสถาบันเอไอที ซึ่งได้รับปริญญา MBA และปริญญาเอกทางด้านการจัดการเทคโนโลยี จากสำนักวิชาวิทยาการการจัดการของสถาบันเอไอทีใน พ.ศ. 2543 และยังดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนอีกด้วย
ส่วนบันทึกความเข้าใจกับ China Scholarship Council ซึ่งลงนามในวันที่ 7 พ.ค. 2559 ระหว่าง ศ. วรศักดิ์ และ Dr. Liu Jinghui เลขาธิการของ CSC ประกอบด้วยการมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกจำนวน 10 ทุนในแต่ละปีให้แก่นักศึกษาจีนมาศึกษายังสถาบันเอไอที
ตามข้อตกลงใหม่นี้จะมีการขยายระยะเวลาของการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก 3 ปี ไปเป็น 4 ปี โดยชาวจีนคนใดที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่สถาบันเอไอทีกำหนดไว้ สามารถได้รับการเสนอให้รับทุนการศึกษาดังกล่าว
นอกจากนี้ Dr. Liu ได้สนับสนุนให้สถาบันเอไอทีแสวงหาพันธมิตรด้านสถาบันการศึกษาในประเทศจีนเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดสอนหลักสูตรสองปริญญาหรือหลักสูตรร่วมกัน และให้ความมั่นใจว่า CSC สามารถให้ทุนส่งอาจารย์ชาวจีนมาดูแลการทำวิจัยร่วมกันกับอาจารย์สถาบันเอไอที นอกจากนี้ นักวิจัยหลังปริญญาเอกยังสามารถสมัครผ่านโครงการของ CSC ได้ เธอยังแนะนำให้สถาบันเอไอทีเข้าร่วมนิทรรศการซึ่ง CSC จัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ใน 4 เมืองของจีน