ไทย-ลาว-เมียนมาร์ร่วมประชุมนานาชาติผลักดันการท่องเที่ยวและการลงทุน

ข่าวท่องเที่ยว Thursday May 26, 2016 15:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--พีอาร์ บูม ไทย-ลาว-เมียนมาร์ร่วมประชุมนานาชาติผลักดันการท่องเที่ยวและการลงทุน ชูเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยง3 แผ่นดินหนุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติLIMEC ครั้งที่ 2เรื่อง "เปิดประตูสู่มรดกโลก เพื่อการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน"โปรโมทเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเมียนมาร์-ไทย-ลาว ผ่านด่านแม่สอด จ.ตาก และด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ พร้อมเจรจาหาความร่วมมือกับตัวแทนภาครัฐและเอกชน 3 ประเทศ ยกระดับเขตภาคเหนือตอนล่าง 1 สู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอินโดจีนหวังกระตุ้นศักยภาพ 5 ด้าน การท่องเที่ยว การค้าการลงทุน การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์ต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของเมียนมาร์และ สปป.ลาว ในปี 2559 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 อันประกอบไปด้วย จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดตาก รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เตรียมพร้อมจัดโครงการประชุมนานาชาติ ระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย ครั้งที่ 2 เรื่อง "เปิดประตูสู่มรดกโลก เพื่อการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน "World Heritage Gateway for Tourism ,Trade and Investment "ระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายน พ.ศ. 2559 นี้ ที่จังหวัดสุโขทัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำและกลไกหลัก ทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้ง 3 ประเทศ เข้าร่วมจำนวน 450 คน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาอุตสาหกรรม หอการค้า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชมรมธนาคาร นักธุรกิจ นักลงทุน จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเจรจาตกลงการค้าการลงทุนร่วมกัน นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 กล่าวถึง โครงการประชุมนานาชาติฯ ว่า"การจัดประชุมนานาชาติ ระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย ในปีนี้ เป็นปีที่ 2 ของการจัดงานร่วมกันของจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 1 โดยมีภาครัฐและเอกชนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เข้าร่วม โดยในปีนี้มีภาคเอกชนจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมด้วยโดยในปีนี้มุ่งนำเสนอให้เกิดการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวระหว่าง 3 ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประชาชนใน 3 ประเทศ และการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจากต่างแดนผ่านเส้นทางนี้ รวมถึงการเป็น MICE Destination ของประเทศไทย" ด้านรายละเอียดของการประชุมฯ นายชัยคม ศกุนรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุโขทัย ในฐานะประธานการจัดประชุมนานาชาติ กล่าวว่า "ประเด็นหลักในการประชุมฯ จะมุ่งเน้นในการพัฒนาเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน "หลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย (Lao PDR-Indochina-Myanmar Route)" ซึ่งมีดินแดนแห่งมรดกโลกและแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor; LIMEC) ซึ่งทุกภาคส่วนในเขตภาคเหนือตอนล่าง 1 ของประเทศไทย แขวงหลวงพระบาง/แขวงไซยะบูลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐกะเหรี่ยง/รัฐมอญ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้ร่วมกันเปิดระเบียงเศรษฐกิจนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 โดยเส้นทางของระเบียงเศรษฐกิจนี้ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญๆ หลายแห่ง เช่น วัดเชียงทอง (หลวงพระบาง) เขื่อนสิริกิติ์ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตลาดริมเมย และพระนอนวัดวินเส่งตอว์ยะ (เมาะลำไย) เป็นต้นเพื่อเป็นยุทธศาตร์ที่สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าและการลงทุน ของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ครอบคลุมถึงความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ5 ด้าน ได้แก่ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์ มีการบรรยายโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ รวมถึงการจัดนิทรรศการ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของสามแผ่นดินการเปิดเวทีแห่งการเจรจาธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการประเทศไทย กับนักธุรกิจที่มาร่วมงานจาก 5 ประเทศและไปศึกษาดูงานในพื้นที่เพื่อสัมผัสถึงศักยภาพของธุรกิจในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1" อย่างไรก็ตาม พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยมีพื้นที่ที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยมีกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ อาทิเช่น อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater MekhongSubregion; GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy; ACMECS) โดยเฉพาะอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor; NSEC) และแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor; EWEC) ที่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และโลจิสติกส์ดังนั้น การจัดการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ยังคาดหวังถึงการขับเคลื่อนภาครัฐในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์หรือสิทธิพิเศษทางด้านการค้าและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศ LIMEC อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ