กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
ในช่วงที่รัฐบาลกำลังมีหลากหลายนโยบายมาใช้เพื่อแก้ไขคุณภาพการศึกษา นโยบายเหล่านั้นก็เป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเด็นว่าดีหรือไม่ ได้ผลอย่างไร ลองหันมองตัวอย่างการพัฒนาการศึกษาจากต่างประเทศในระดับโรงเรียน ว่ามีประเด็นใดที่ไทยควรเรียนรู้ได้บ้าง แล้วเขาทำสำเร็จได้อย่างไร
กลุ่มทำงานกลุ่มเล็กๆ ระดับผู้บริหารโรงเรียนมารวมตัวกันอย่างอิสระ ภายใต้ชื่อ "กลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ หรือ กลุ่ม ผอ. ผู้นำ" นำประสบการณ์ในการบริหารและการจัดการเรียนการสอน มาแลกเปลี่ยนกันพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนของตนให้มีประสิทธิภาพที่สุด ตามแนวทางที่เรียกว่า "SLC : School as Learning Community หรือ โรงเรียนคือชุมชนแห่งการเรียนรู้" โดยได้รับการสนับสนุนด้านการจัดประชุม จาก บมจ.ปิโก (ไทยแลนด์) ในการประชุมครั้งล่าสุด รศ.ดร. ลัดดา ภู่เกียรติ ประธานกลุ่ม ผอ.ผู้นำ แชร์ประสบการณ์เยี่ยมชมโรงเรียนที่อเมริกา คือ KIPP Infinity Charter School ดึงตัวอย่างแนวคิดการพัฒนาก้าวกระโดด จากโรงเรียนด้อยโอกาสสู่ชั้นแนวหน้า ชี้วิสัยทัศน์โรงเรียนต้องชัด, ผอ.ต้องเป็นผู้นำในเรื่องการเรียนการสอน, ครูมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน และเน้นการพัฒนาคุณลักษณะ ปัจจัยเหล่านี้สร้าง "โอกาสเท่าเทียมเรื่องคุณภาพการศึกษา" แก่นักเรียนทุกคน ประเด็นนี้น่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้วางแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาควรนำพิจารณา และพัฒนาใช้ประโยชน์ต่อการศึกษาไทยต่อไปได้
รองศาสตราจารย์ลัดดา ภู่เกียรติ ประธานกลุ่ม ผอ. ผู้นำ สรุปข้อมูลเกี่ยวกับการได้ไปดูงานที่ KIPP Infinity Charter School ว่า "KIPP Infinity Charter School หรือ KIPP School (Knowledge Is Power Program) เป็นเครือข่ายโรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "การศึกษาที่ดีสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ (Great education transforms lives.) นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และประสบความสำเร็จในระดับสูงหากได้รับโอกาส ภารกิจของโรงเรียนคือการช่วยให้นักเรียนพัฒนาความรู้ ทักษะและคุณลักษณะอันเป็นจุดแข็งของตัวเอง" KIPP มีโรงเรียนในเครือข่าย 183 แห่งทั่วอเมริกา และมีนักเรียนกว่า 70,000 คน ที่คณะได้ไปเยี่ยมชมคือ KIPP Infinity Charter School อยู่ในย่าน Bronx นครนิวยอร์ค เปิดสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 - มัธยมศึกษาปีที่ 2 มีนักเรียน 357 คน และครู 30 คน ห้องเรียน 19 ห้อง (25-30 คน/ห้อง)"
การพัฒนาเด็กในโรงเรียน KIPP Infinity Charter School คือ การพัฒนาจากเด็กที่อยู่ในชุมชนที่ด้อยโอกาส ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีโอกาสทางสังคมสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ทั้งยังมุ่งพัฒนาเด็ก และเตรียมความพร้อมของเด็กไปตามแนวทางที่เด็กถนัด ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยสามารถวัดผลได้จากการที่เด็กเหล่านี้สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งแนวคิดในการพัฒนาการเรียนการสอนนี้ได้รับความร่วมมืออันสำคัญยิ่งจากครูใหญ่ คุณครูผู้สอน ที่ให้ความใส่ใจในการพัฒนาคนมากกว่าที่จะพัฒนาการด้านความเป็นเลิศทางวิชาการเพียงอย่างเดียวดังที่ว่า
"ถ้าเด็กๆ ของเราไม่ยิ้มนั่นหมายความว่าพวกเรากำลังทำอะไรบางอย่างผิดไป (If our kids aren't smiling… then we're doing something wrong." จุดเด่นของโรงเรียน คือ 1) วิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่ว่า Infinity No Short Cuts, No Limits ไม่มีทางลัด ไม่มีขีดจำกัด (ครูทุกคนจะสนับสนุนนักเรียนทุกคนให้พัฒนาตนเองได้เต็มที่) 2) พันธกิจร่วมกันของครูในโรงเรียนที่เข้มแข็ง 3) บทบาทครูใหญ่ : ในฐานะผู้นำเรื่องการเรียนการสอน (Instructional Leader) 4) การมี "จุดเน้นและคุณลักษณะที่สำคัญ" ของนักเรียนที่เน้นการสร้าง 7 คุณลักษณะที่สำคัญในการเรียนรู้ ได้แก่ การคิดบวก (Positive Thinking) การควบคุมตนเอง (Self Control) ความอดทน (Grit) ความกระตือรือร้น (Zest) ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) ความกตัญญู (Gratitude) และความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นและส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยสิ่งเหล่านี้มีสำคัญมากกว่า ดังเห็นได้จากที่โรงเรียนที่ระบุว่า Achievement 49%, Character Strength 51% ตลอดจนมีระบบสนับสนุนการทำงานของครูทุกคนให้ทำงานในเรื่องการเรียนการสอนเป็นหลัก และสร้างสภาพแวดล้อมทุกส่วนให้เอื้อต่อการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของนักเรียน
"บทสรุปที่ได้จากการไปดูโรงเรียน KIPP School ในครั้งนี้ พบว่าสิ่งที่โดดเด่นมาก คือ วิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่เชื่อในศักยภาพของเด็ก แม้ว่าเด็กจะมาจากสังคมที่ด้อยโอกาส แต่ทั้ง ผอ. และครูทุกคน สร้างความเชื่อมั่นว่าลูกศิษย์ของเขาจะสามารถก้าวผ่านสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร ที่สำคัญคือปลูกฝังให้เด็กมีความพยายาม สร้างโอกาสที่เท่าเทียมในคุณภาพการศึกษา คือ ครูและโรงเรียนจะช่วยให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาคุณภาพที่ดีที่สุด และไปถึงอนาคตที่ทุกคนใฝ่ฝัน..โรงเรียนจึงเป็นที่สร้างฝัน สร้างโอกาสที่เท่าเทียมแก่เด็กทุกคน" รองศาสตราจารย์ลัดดา ภู่เกียรติ กล่าวสรุป
การนำข้อมูลอันเป็นประโยชน์เหล่านี้มานำเสนอในเวที กลุ่ม ผอ.ผู้นำ เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการรวมกลุ่มของผอ., ที่สมัครใจ ร่วมเรียนรู้และหาแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนตัวเอง โดยไม่แบ่งแยกสังกัด ตามแนวทางของ SLC (School as Learning Community) การร่วมกันเข้ารับฟังการแชร์ประสบการณ์ที่ผู้นำกลุ่มได้ไปเห็นมา จะนำมาซึ่งการคิดต่อยอดในการประชุมครั้งต่อไปในอนาคต โดยทุกสองถึงสามเดือนจะมีการประชุม 1 ครั้ง เพื่อร่วมกันหาและนำเสนอแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาโรงเรียนของตนเอง
หมายเหตุ
KIPP School คือ โรงเรียนสำหรับเด็กที่อยู่ในชุมชนที่ด้อยโอกาส มีจุดมุ่งหมายพัฒนาให้นักเรียนได้เรียนในระดับอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในเรื่องของคุณภาพการศึกษา ให้เด็กทุกคนมีสิทธิได้เรียนกับครูที่ดี ได้รับการพัฒนาคุณลักษณะเพื่อให้เขาได้มีโอกาสเติบโต สู่สังคมที่ดีในอนาคต