กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 9 จังหวัด ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา และภูเก็ต เตรียมรับมือภาวะฝนตกหนักถึงหนักมาก จากอิทธิพลพายุไซโคลน "โรอานู" ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ในช่วงวันที่ 23 - 25 พ.ค. 59 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย หากสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาสั่งการอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุไซโคลน"โรอานู" ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่อง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 9 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา และภูเก็ต รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ตรวจวัดปริมาณน้ำฝน เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมหมั่นสังเกตสิ่งผิดปกติทางธรรมชาติที่เป็นสัญญาณบอกเหตุดินถล่ม อีกทั้ง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน และพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง สิ่งก่อสร้างในเขตชุมชนและป้ายโฆษณาในพื้นที่สาธารณะอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาสั่งการอพยพประชาชนไปอยู่ที่ปลอดภัย จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคร่าวให้พร้อมรองรับผู้ประสบภัย และดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอย่างเต็มกำลัง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th