กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้ โดยตั้งสติ ประเมินสถานการณ์ หากเพลิงไหม้เล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้น กรณีเพลิงไหม้รุนแรง ให้รีบอพยพออกจากอาคารไปตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัยและใกล้ที่สุด หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ ไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดอับของอาคาร เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ที่มีผู้อาศัยจำนวนมาก ซึ่งพื้นที่ใช้งานที่กว้างขวางและความสูงของอาคาร ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ได้รับอันตรายกรณีเกิดเพลิงไหม้ อีกทั้งหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะยากต่อการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้ โดยตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น กรณีเพลิงไหม้เล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้น พร้อมแจ้งฝ่ายอาคารและสถานที่มาควบคุมเพลิง กรณีเพลิงไหม้รุนแรง ให้ตะโกนบอกหรือกดสัญญาณแจ้งเตือนให้ผู้อื่นอพยพออกจากอาคาร จากนั้นให้โทรศัพท์เรียกเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาระงับเหตุ สำหรับการอพยพออกจากอาคาร ให้ใช้มือสัมผัสลูกบิดประตูหรือผนังห้องก่อนออกจากห้อง หากไม่ร้อน ให้เปิดประตูออกไปช้าๆ และหมอบคลานต่ำไปตามเส้นทางอพยพหนีไฟที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจโดยตรง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปากหรือนำถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาคลุมศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ หากลูกบิดประตูหรือผนังห้องมีความร้อนสูง แสดงว่าเกิดเพลิงไหม้บริเวณใกล้เคียง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะควันไฟ และเปลวเพลิงจะเข้ามาในห้อง ใช้ผ้าชุบน้ำปิดช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้ ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ จากนั้นโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่หรือส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบ จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ห้ามใช้ลิฟต์ และบันไดภายในอาคารอพยพหนีไฟ เพราะมีลักษณะเป็นช่อง ทำให้ควันไฟ ความร้อน และเปลวเพลิงสามารถลอยเข้าไปได้ ส่งผลให้สำลักควันไฟเสียชีวิต อีกทั้งเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับทำให้ลิฟต์หยุดทำงาน จึงติดค้างอยู่ในลิฟต์ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ ที่สำคัญ ไม่ควรอพยพหนีไฟเข้าไปอยู่บริเวณที่เป็นจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องน้ำ ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้ รวมถึงไม่หนีไฟขึ้นไปชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ทำให้สามารถเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างปลอดภัย
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th