นวัตกรรมยาช่วยเหลือผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ต้านสารฮิสตามีนตัวใหม่ไม่มีผลข้างเคียงด้านการกดประสาท

ข่าวทั่วไป Friday April 8, 2016 12:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเผยโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีเพิ่มมากขึ้น หลังจากมีการพัฒนานวัตกรรมทางการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค้นพบยาต้านอิสตามีนตัวใหม่ ไม่มีผลด้านการกดประสาท และสามารถรักษาโรคจากภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ หรือหอบหืด ได้ ศาสตราจารย์ ราล์ฟ มอสเกส แพทย์เฉพาะทางด้านโสตนาสิกลาริงซ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก) แพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้ (ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้) และหัวหน้าภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์ จากสถาบันโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิกของยุโรป (EAACI) เปิดเผยว่า โรคภูมิแพ้ มีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองอย่างรุนแรงต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เข้ามากระตุ้น เช่น ละอองเกสร ไรฝุ่น หรือขนสัตว์ โดยจำนวนของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา มักพบผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จำนวนมากในประเทศอุตสาหกรรม นอกจากนี้สภาพภูมิอากาศและไอเสียจากรถยนต์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรคภูมิแพ้กำเริบขึ้นมาได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการของโรครุนแรงเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย โรคภูมิแพ้มีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้จมูกอักเสบ(แพ้อากาศ) แพ้อาหาร หรือแม้แต่ลมพิษ โดยอาการของโรคภูมิแพ้เป็นได้ตั้งแต่ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คัน หรือตาแดง ซึ่งสาเหตุเกิดจากร่างกายหลั่งสารฮิสตามีนขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายได้รับ และพยายามจะกำจัดสารนั้น ๆ ออกจากร่างกาย หรือป้องกันไม่ให้สารนั้น ๆ เข้าสู่ร่างกายเพิ่ม ซึ่งแนวทางการรักษาโรคภูมิแพ้ก็มีตั้งแต่ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่จะมากระตุ้นให้อาการกำเริบ ดูแลรักษาความสะอาดของสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย จนไปถึงการรักษาโดยการใช้ยาต้านฮิสตามีนหรือยาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ ปัจจัยของโรคภูมิแพ้ส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ โดยหากแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นภูมิแพ้สูงถึง 6 เท่า หากพ่อเป็นภูมิแพ้ ลูกก็มีโอกาสเป็นภูมิแพ้สูงถึง 2 เท่า แต่หากทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ โอกาสที่ลูกจะเป็นภูมิแพ้นั้นสูงมากถึง 8 เท่าเลยทีเดียว โดยในปัจจุบันยังไม่สามารถหาวิธีป้องกันการส่งต่อโรคภูมิแพ้จากพ่อแม่สู่ลูกได้ แต่ทางการแพทย์แนะนำว่า ลูกน่าจะได้ดื่มนมแม่อย่างน้อย 4 เดือนเพื่อลดอัตราเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ให้ต่ำลง และในระหว่างตั้งครรภ์ แม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้อย่างนมวัวและอาหารทะเลอีกด้วย ศาสตราจารย์ ราล์ฟ กล่าวว่า การรักษาโรคภูมิแพ้ในขั้นแรก มักจะให้ยาต้านสารฮิสตามีน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของยาเม็ด ยาหยอดตา หรือยาพ่นจมูก ขึ้นอยู่กับอาการหรือถ้าอาการหนัก อาจจะให้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ ซึ่งสามารถออกฤทธิ์อย่างฉับพลันและได้ผลดีแต่มีผลข้างเคียง นอกจากนั้นยังมีวิธีการรักษาด้วย Immunotherapy ซึ่งเป็นการปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยเริ่มจากฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าร่างกายในปริมาณน้อย ๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ก่อนเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนกระทั่งร่างกายไม่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ อีกต่อไป โดยวิธีนี้อาจกินระยะเวลานาน 1-3 ปี แต่นับว่าเป็นวิธีที่เห็นผลได้ในระยะยาวและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังลดโอกาสการพัฒนาของโรคจากภูมิแพ้ไปเป็นหอบหืดอีกด้วย ส่วนลมพิษเป็นอาการทางผิวหนังที่เกิดขึ้นเองจากการที่ร่างกายหลังสารฮิสตามีนออกมาโดย 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แสดงอาการเป็นผื่นสีแดงหรือขาว ซึ่งมีขนาดแตกต่างกันออกไป โดยผื่นจะเกิดขึ้นและหายไปซ้ำๆ โดยลมพิษไม่ใช่โรคที่อันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายตัวและรบกวนการใช้ชีวิตหรือการนอนของผู้ป่วยอีกด้วย โดยลมพิษสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาต้านฮิสตามีน แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยาที่แรงกว่าปริมาณปกติที่ใช้รักษาภูมิแพ้จมูกอักเสบ โดยอาจจะต้องมากกว่า 2-4 เท่า แต่มักจะมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ง่วงซึม ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงจากการได้รับยาปริมาณเยอะแบบนี้ และทำให้ลำบากในการใช้ชีวิต "ในตอนนี้มียาต้านฮิสตามีนแบบใหม่ ได้รับการรับรองจากแนวทางการรักษาระดับนานาชาติ มีปริมาณมากกว่ายาต้านฮิสตามีนทั่วไปที่ใช้กัน แต่ไม่มีฤทธิ์กดประสาท และถึงจะเพิ่มปริมาณยาก็ไม่มีผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ ถือว่าเป็นโชคดีของผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง" ศาสตราจารย์ ราล์ฟ กล่าวและว่า อาการจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ได้ส่งผลกระทบกับผู้คนมากกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการเรียนหนังสือ และยังมีความเกี่ยวเนื่องกับโรคอื่น ๆ อาทิ หอบหืด ไซนัสอักเสบ และสามารถทำให้เกิดการนอนหลับผิดปกติ ส่วนลมพิษขั้นรุนแรงก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย มีผลเสียต่อการนอนหลับพักผ่อน การเคลื่อนไหว และพลังงานที่ต้องใช้ในแต่ละวัน รวมทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตที่ทำงาน และสังคมของผู้ป่วยอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ