กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กทม.
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม. วันนี้ (17 ต.ค.43) ว่า ขณะนี้กทม.มีโครงการที่จะปรับปรุงพื้นที่ในเขตบางซื่อจำนวน 3 บริเวณ คือ บริเวณหลังวัดสร้อยทอง เนื้อที่ 27 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่รกร้าง โดยกทม.จะเข้าไปปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะและลานกีฬาสำหรับให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการ ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ ปัจจุบันผู้ครอบครองคือ กระทรวงกลาโหม โดยตนได้ลงนามหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 31 ส.ค.43 บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ เนื้อที่ 40 ไร่ ซึ่งสภาพปัจจุบันเป็นบ้านพักของพนักงานรถไฟ และชุมชนแออัดอยู่กันอย่างไม่เป็นระเบียบ โดยกทม.จะขอใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างปรับปรุงเป็นตึกฝักข้าวโพด จัดทำสวนสาธารณะชุมชน พร้อมทั้งสร้างจุดจอดรถ (Park & Ride) สำหรับประชาชนที่จะเข้าเมืองโดยอาศัยรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีสถานีขึ้น-ลงอยู่ตรงบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ทั้งนี้สัปดาห์หน้าตนจะเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งคาดว่าน่าจะไม่มีปัญหาอะไร สำหรับตึกฝักข้าวโพดนั้น ผู้ที่จะได้รับการพิจารณาให้เข้าพักอาศัย คือ ผู้บุกรุกคลองเปรมประชากรและผู้มีรายได้น้อยโดยให้เข้ามาอยู่อาศัยในอัตราค่าเช่าที่ถูก ซึ่งจะได้มีการพิจารณาอัตราค่าเช่ากันอีกครั้งหนึ่ง โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เลียบทางรถไฟสายใต้ (ชุมชนโชติพัฒน์) บริเวณจากถนนประชาชื่นไปถึงคลองเปรมประชากร ซึ่งปัจจุบันทางเข้าชุมชนเป็นถนนลูกรัง กว้างประมาณ 5 เมตร มีฝุ่นฟุ้งกระจาย สร้างความรำคาญให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น กทม.จึงจะเข้าไปปรับปรุงถนนลูกรังให้เป็นถนนแอสฟั้ลต์ กว้างประมาณ 6 เมตร รวมถึงพัฒนาคูคลองเลียบทางรถไฟ เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำ พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ยืนต้นตามแนวถนนเพื่อความสวยงามร่มรื่น นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวมีบ้านทรงไทยอยู่ 2 หลัง ซึ่งอาจารย์ท่านหนึ่งจะยกให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมของเขตบางซื่อด้วย สำหรับโครงการนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีหนังสืออนุญาตให้กทม.ดำเนินการปรับปรุงบริเวณดังกล่าวแล้ว
ในวันเดียวกันนี้ ผู้ว่าฯกทม. ได้รับมอบ“หมุดแบ่งเส้นถนนพลังแสงอาทิตย์” (THE SOLAR ROAD MARKER) จำนวน 200 ตัว จากบริษัทเอ็นเอสเอ็น เซอร์วิส จำกัด โดยนายสุพัฒน์ ดุรงค์วัฒนา กรรมการผู้จัดการฯ เพื่อให้กรุงเทพมหานครนำไปติดตั้งบนถนนบริเวณที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ได้แก่ บริเวณที่ไม่มีแสงสว่างเพียงพอ ตลอดจนทางแยก ทางโค้ง และทางต่างระดับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้รถใช้ถนน ในอันที่จะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร
สำหรับอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้ามาจากประเทศเกาหลี ซึ่งวางขายตามท้องตลาด ราคาตัวละประมาณ 2,800 บาท แต่ถ้านำแต่เฉพาะตัว SOLAR CELL ที่เป็นส่วนใช้รับพลังงานแสงอาทิตย์มาประกอบในประเทศไทย ก็จะทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาลดลงเหลือประมาณ 2,000 บาท
โอกาสนี้ผู้ว่าฯ กทม.ได้กล่าวขอบคุณบริษัทเอ็นเอสเอ็น เซอร์วิส จำกัด ที่ได้มอบ “หมุดแบ่งเส้นถนนพลังแสงอาทิตย์” ให้กับกทม. ซึ่งกทม.จะได้แนะนำหมุดดังกล่าวให้กับสำนักการจราจรและขนส่งเพื่อพิจารณาเลือกจุดที่น่าจะทดลองนำ “หมุดพลังงานแสงอาทิตย์” นี้ ไปติดตั้ง และหากอุปกรณ์ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อประชาชนจริง ก็จะได้มีการพิจารณานำมาใช้ต่อไป--จบ--
-นศ-