อย.เตือนโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ต้องขออนุญาตก่อนโฆษณาผ่านเวบไซต์

ข่าวทั่วไป Thursday July 27, 2000 12:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--อย.
ยุคอี-คอมเมอร์สบูม อย.เตือน...โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ ผ่านทางเวบไซต์ ต้องขออนุญาตก่อน มิฉะนั้น จะมีความผิดตามกฎหมาย พร้อมฝากถึงผู้บริโภคให้ระวังการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทางเวบไซต์ต่าง ๆ เพราะหากโฆษณานั้นไม่ผ่าน อย. อาจเป็นข้อมูลที่ผิด ทำให้ได้รับอันตรายจากการบริโภคได้น.พ.ณรงค์ ฉายากุล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และขยายขอบเขตกว้างขวางทั่วโลก ทำให้เกิดกิจกรรม การค้าอิเล็คทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมอร์ส (E-commerse) ผ่านทางอินเทอร์เน็ตขึ้น และเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ในเดือนสิงหาคม 2542 มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทางอินเทอร์เนตมากมาย แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยา 437 รายการ อาหาร 92 รายการ เครื่องสำอาง 50 รายการ และเครื่องมือแพทย์ 16 รายการ ซึ่งโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ทั้งหมดเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. และบางผลิตภัณฑ์มีการโฆษณาไม่เหมาะสม เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารชนิดหนึ่งมีการโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งไม่พบข้อความแสดงสรรพคุณ แต่มีการระบุเวบไซต์ (Website) ในชิ้นงานโฆษณา และหากเข้าเวบไซต์ดังกล่าวแล้ว จะพบว่ามีการระบุสรรพคุณในการบำบัดรักษาบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ มากมาย และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถสั่งสินค้าได้ด้วย เป็นต้น ขณะนี้ อย.กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการฝ่าฝืน โดยล่าสุด ได้มีการปิดเวบไซต์ในไทย และจับกุมผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯที่ขายยาอันตรายและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทฯ ให้แก่คนสหรัฐอเมริกาแล้ว ทั้งนี้ จะมีการเฝ้าระวังการโฆษณาประเภทนี้ผ่านทางอินเทอร์เนตอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังปัญหาต่อไป จึงขอแจ้งเตือนมายังผู้ประกอบการ ก่อนที่จะโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ ทางสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ รวมทั้งสื่ออินเทอร์เนต จะต้องมาขออนุญาตจาก อย.ก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงทำการโฆษณาได้ มิฉะนั้น จะมีความผิดตามกฎหมายเลขาธิการฯ น.พ.ณรงค์ ฉายากุล กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้บริโภคควรให้ความระมัดระวังในเรื่องการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพบางอย่างผ่านทางระบบอี-คอมเมอร์ส โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยา เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรเสี่ยงซื้อมาใช้เองโดยเชื่อข้อมูลจากโฆษณา เพราะหากโฆษณานั้นไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจาก อย. อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ผิด และได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นได้--จบ--
-สส-

แท็ก ข้อมูล   ฉายา   อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ