กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--เจพี วัน คอนซัลแทนท์
Third Language ภาษาที่สามในโลกของสังคมธุรกิจ ในยุคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต ขยายตัวอย่างไม่หยุดนิ่งในโลกของการทำงาน บุคลากรถือเป็นส่วนสำคัญที่ทุกองค์กร โดยเฉพาะนายจ้างพึงปรารถนาที่จะได้ลูกจ้างที่มีทักษะทางด้านภาษาเป็นอย่างดี ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานอกจากภาษาไทยที่เราใช้ในการสื่อสาร เรามักจะถูกสอนเสมอว่า "ภาษาอังกฤษ" ถือเป็นภาษาที่สองที่สำคัญในการทำงาน
Third Language ภาษาที่ใช้ในการทำงานในยุคสังคมทำงานในปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจ การทะลักของแรงงาน แรงกระเพื่อมของทิศทางภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยน เริ่มมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านภาษาที่สามมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐที่ต้องการเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนทั้งภาคการผลิต การท่องเที่ยวและการติดต่อสื่อสารในระดับอาเซียน จนเรียกได้ว่า เป็นยุคทองของภาษาที่สาม ส่งผลให้กลุ่มงานขาย งานบริการลูกค้าและแรงงานวิชาชีพที่ได้ภาษาที่สาม เป็นอาชีพที่มาแรงแห่งปีไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริการทางโทรศัพท์ มัคคุเทศน์ พนักงานขาย พนักงานพัฒนาธุรกิจ นักแปล ล่าม พนักงานบริการลูกค้า วิศวกร พนักงานฝ่ายบุคคล และพนักงานบัญชี และอื่นๆ ดังที่ แมนพาวเวอร์กรุ๊ปได้สำรวจจากความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มบริษัทภายใต้การดูแลของแมนพาววอร์กรุ๊ป ทั่วประเทศไทย ทำให้ได้ทราบถึงความต้องการแรงงานที่ได้ภาษาที่สามจากปี 2558 ถึงปัจจุบันพบว่า
ภาษาจีน มาแรงเป็นอันดับ 1 จะเห็นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ทะลักเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมากกว่า 8 ล้านคนในแต่ละปีและเป็นสัดส่วนสูงเกือบ 30% จากปริมาณนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั้งหมด ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ซึ่งรวมถึง กลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ล่ามแปลภาษา โรงพยาบาล และมัคคุเทศก์ มีความต้องการแรงงานที่สามารถสื่อสารภาษาจีน จำนวนมาก
ภาษาญี่ปุ่น เป็นอันดับ 2 เนื่องด้วยความเชื่อมั่นในการลงทุนและการตั้งฐานการผลิตจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ยังมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะในด้านภาษาญี่ปุ่นตลอดเวลาและอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระดับผู้บริหารและระดับวิชาชีพ ซึ่งผู้มีความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นในระดับดีขึ้นไปมีอัตราการแย่งตัวสูง
ภาษาสเปน มาเป็นอันดับ 3 ด้วยกลุ่มธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยยังคงมาจากฝั่งยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่คนที่สามารถสื่อสารภาษาสเปนได้ มักใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอีกด้วย ภาษาฝรั่งเศส มาเป็นอันดับ 4 ซึ่งถือเป็นภาษายอดนิยมในกลุ่มนักศึกษา และยังเป็นที่ต้องการของตลาดเช่นเดิม ในการสื่อสารทางธุรกิจ ล่าม และธุรกิจโรงแรม
แต่ที่น่าสนใจ คือ ภาษาเกาหลี ที่ตีตื้นมาเป็นอันดับที่ 5 เรียกว่ากำลังเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจเป็นอย่างสูงจากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ต้องการคนพูดภาษาเกาหลีมากขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวเกาหลีซึ่งมากกว่าหนึ่งล้านคนต่อปี และคาดการว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Third Language ความต้องการของตลาดแรงงานต้องมาด้วยค่าตอบแทนที่คุ้มค่าขึ้น เรียกได้ว่าแรงงานที่มีทักษะในกลุ่มดังกล่าวยังน้อย ซึ่งค่าจ้างจะสูงกว่าปกติจากค่าจ้างแรงงานพื้นฐานถึง 5,000 – 20,000 บาท แล้วแต่ความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคล โดยจากการรวบรวมสถิติจากปี 2557 ถึง 2558 แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้เห็นการเติบโตกว่าร้อยละ 15 จากความต้องการด้านภาษา และในปี 2559 เพียงแค่ไตรมาสแรกความต้องการแรงงานที่มีทักษะภาษาเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด
Third Language ในอนาคตจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทุกภาคส่วนต้องเดินหน้าสนับสนุนในการพัฒนาทักษะด้านภาษาของกลุ่มแรงงานอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคการศึกษา การพัฒนาด้านพื้นฐานแรงงานไทย และภาคเอกชน ไม่ใช่เฉพาะการเรียนการสอนในสายศิลป์-ภาษาเท่านั้น แต่ต้องทำให้สายเฉพาะทาง เช่น วิศวกร แพทย์ นักบัญชี ได้ภาษาที่สาม เพื่อเป็นแรงงานวิชาชีพที่สามารถทำงานกับต่างชาติได้แบบไร้รอยต่อ อนาคตของบุคลากรที่มีศักยภาพ ความต้องการในตลาดแรงงานที่พร้อมพัฒนาในหน่วยงาน องค์กรภายในประเทศ จะเป็นการส่งผลให้เกิดเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว