กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2560 – 2564 ตามที่ วธ. เสนอ ซึ่งตั้งแต่ประกาศใช้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ครม.ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ มาแล้ว 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2552 – 2554 และระยะที่ 2 พ.ศ. 2555– 2559 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการมอบหมายให้ วธ. เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของประเทศไทย ดังนั้นคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่งมีพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ ระยะที่ 3 เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยให้มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน พัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของอาเซียน และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ ที่สำคัญในตลาดโลก ใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สร้างสรรค์สังคม ประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย
นายวีระ กล่าวว่า สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ระยะที่ 3 มี 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยให้เป็นมืออาชีพ อาทิ พัฒนาบุคลากรสาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สร้างความร่วมมือทางวิชาการและการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ 2.ส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย อาทิ ส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3. ส่งเสริมการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ อาทิ บังคับใช้กฎหมายและแก้ไขกฎหมาย เพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคในการสนับสนุนภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย จัดทำมาตรการและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเก็บลิขสิทธิ์ที่เหมาะสมและถูกต้อง 4.ส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนระหว่างประเทศ รวมธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย อาทิ ส่งเสริมการร่วมลงทุนสร้างผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาผลิตภาพยนตร์ฯ ในประเทศไทยและ 5.พัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ อาทิ ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการและบทบาทของ หน่วยงานภาครัฐ พัฒนาระบบฐานข้อมูลภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นต้น
นายวีระ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระยะที่ 3 มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและบูรณาการความร่วมมือ ได้แก่ วธ. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงการต่างประเทศ อย่างไรก็ตามได้รับรายงานว่า จากการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปี 2552 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม (ไม่รวมรายได้จากธุรกิจแวดล้อม) 56,168 ล้านบาท ปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 77,512 ล้านบาท หรือร้อยละ 38 และในปี 2557 ข้อมูลจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ พบว่า มูลค่ารายได้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศไทยเฉพาะในส่วนการดำเนินธุรกิจทั่วไปมีมูลค่าประมาณ 57,700 ล้านบาท และผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พบว่า มูลค่ารายได้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (รวมเกมออนไลน์ ธุรกิจเพลง ภาพยนตร์ออนไลน์ บริการที่เกี่ยวข้องหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-books) และแอพพลิเคชั่น) ประมาณ 342,300 ล้านบาทรวมมูลค่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศไทยปี 2557 ประมาณ 400,000 ล้านบาท