กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่49.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.01 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· กลุ่ม Niger Delta Avengers ทำลายท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับท่าส่งออกน้ำมันดิบEscravos (ปริมาณการส่งออก 125,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ บริษัท Chevron ในวันที่ 26 พ.ค.59 ที่กลุ่มก่อการร้ายกำหนดเส้นตายให้บริษัทน้ำมันต่างชาติออกจากพื้นที่ จนกำลังการผลิตน้ำมันดิบ Escravos ประมาณ 90,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการ อนึ่งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียลดลงจาก 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.2 ล้านบาร์เรล เป็นการลดลงมากสุดในรอบ 7 สัปดาห์ มาอยู่ที่ 537.1 ล้านบาร์เรล
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 Rig มาอยู่ที่ 312 Rig ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 52
· บริษัท CEFC China Energy บริษัทเอกชนด้านพลังงานของจีนทำสัญญากับบริษัท China National Chemical Corporation (ChemChina) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนเช่าคลังเก็บน้ำมันดิบซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ Hainan ความจุ 9.5 ล้านบาร์เรล เป็นเวลา 5 ปี เพื่อใช้เป็นคลังสำรองน้ำมันดิบทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Institute หรือ SPR) ทั้งนี้คลังน้ำมันข้างต้นมีความจุน้ำมันดิบรวม 15ล้านบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปรวม 2.5 ล้านบาร์เรล
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าNYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ค. 59 สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 819 สัญญา มาอยู่ที่ 254,508 สัญญา
· Reuters รายงานรัฐมนตรีคลังของยูโรโซนและ IMF อนุมัติเงินกู้งวดใหม่แก่กรีซมูลค่า 1.03 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเงินกู้งวดใหม่นี้ จะจัดสรรให้กรีซ วงเงิน 7.5 พันล้านยูโร ช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ และเงินส่วนที่เหลือ 2.8 พันล้านยูโร ในเดือน ก.ย.59 การปล่อยเงินกู้ดังกล่าวเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งในปี พ.ศ. 2561 กรีซมีแผนระดมเงินกู้ทั้งจากสถาบันการเงินต่างชาติ และเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment)
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Reuters รายงานการผลิตน้ำมันดิบของแคนาดาทยอยกลับมาดำเนินการประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากที่หยุดไปทั้งหมดประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังเหตุไฟป่าเริ่มสงบลงในหลายจุด พนักงานส่วนใหญ่สามารถกลับเข้าปฏิบัติการตามแหล่งผลิต
· รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานอิหร่าน นาย Rokneddin Javadi ระบุว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน ส.ค. นี้ และกล่าวย้ำจุดยืนว่ารัฐบาลอิหร่านจะไม่คงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ (Freeze Production)
· การประท้วงในฝรั่งเศสเพื่อกดดันให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงานทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ โรงกลั่น 6 โรงจากทั้งหมด 8โรง (กำลังการกลั่นทั้งประเทศอยู่ที่ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ต้องหยุดดำเนินการหรือลดอัตราการกลั่น และล่าสุดทำให้ฝรั่งเศสขาดแคลนเชื้อเพลิงทั่วประเทศซึ่งรัฐบาลอาจต้องนำน้ำมันสำเร็จรูปจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve หรือ SPR)มาจำหน่ายให้ประชาชน
· กระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักรคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศอาจถดถอยหากผลการลงประชามติ วันที่ 23 มิ.ย. 59 เห็นชอบให้ออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดย GDP ในปี พ.ศ. 2561 จะลดลงจากปีก่อน 1.7% ต่อปีเทียบกับกรณีไม่แยกตัว GDP จะเติบโตที่ 4.3% ต่อปี ขณะที่รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศสระบุว่าที่ประชุมรัฐมนตรีคลังประเทศ G7 ไม่เห็นด้วยกับการถอนตัว ขณะที่ผลสำรวจของสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมนี รายงานบริษัทเยอรมนีที่ประกอบธุรกิจในอังกฤษ 61% เตรียมลดการลงทุน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 27 พ.ค. 59 ลดลงเล็กน้อย หลังจากวันพฤหัสที่ผ่านมาต่างขึ้นไปยืนเหนือระดับ $50/BBL ขณะตลาดทำการ (Intraday) ซึ่งนับเป็นแนวต้านทางจิตวิทยาที่สำคัญ สัปดาห์นี้ ให้จับตาการทดสอบระดับราคาดังกล่าว ทั้งนี้ นักลงทุนเพิ่มสถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) สัญญาน้ำมันดิบ WTI จนแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ มิ.ย. 58 และล่าสุดจากการรายงานของ Reuters นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 59 Net Long Position จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก และมองว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกระยะ ก่อนจะพบแนวต้านที่แข็งแกร่งประมาณ 53-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายใน 3-5 สัปดาห์ข้างหน้า ส่วนทางด้านปัจจัยพื้นฐาน ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการเข้าสู่ฤดูขับขี่ท่องเที่ยวของสหรัฐฯ โดยเริ่มต้นจาก Memorial Day (วันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ค. วันที่ 30 พ.ค. 59) และจะดำเนินต่อเนื่อง 3 เดือน ก่อนไปสิ้นสุดวันแรงงาน (วันจันทร์แรกของเดือน ก.ย. วันที่ 5 ก.ย. 59) ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันจะเร่งอัตราการกลั่นเพื่อรองรับความต้องใช้ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบลดลง ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มลดลงชัดเจน ล่าสุดอยู่ที่ 8.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี และลดลง 8.7% จากระดับสูงสุดเมื่อเดือน มิ.ย. 58 อนึ่ง สัปดาห์นี้ มีการประชุม OPECในวันพฤหัสบดีที่ 2 มิ.ย. 59 แต่นักวิเคราะห์คาดว่าที่ประชุมจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาติสมาชิก โดยเฉพาะแกนนำอย่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังสามารถรักษาระดับเดิมได้และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics of China หรือ NBS) รายงานยอดการผลิตน้ำมันเบนซินเดือน เม.ย. 59 เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.6% มาอยู่ที่ 93.2 ล้านบาร์เรล อีกทั้งราคาน้ำมันเบนซินในเอเชียได้แรงหนุนจาก Arbitrage จากฝั่งตะวันตกที่น้อยลงเนื่องจากความต้องการใช้ช่วงฤดูขับขี่ในสหรัฐฯ สูงขึ้นด้านปริมาณสำรอง Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 พ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 10,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.49 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 460,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.87 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานปัจจัยพื้นฐานของตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยอุปทานอยู่ในระดับสูง และ Qatar Petroleum ประกาศเปลี่ยน specification น้ำมันเบนซินขายปลีกภายในประเทศจากเดิม 97 RON และ 90 RON สู่ 95 RON และ 91 RON มีผลเริ่มใช้วันที่ 1 มิ.ย. นี้ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากภาวะภัยแล้งรุนแรงทำให้อุปสงค์น้ำมันดีเซลเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้นจากเวียดนาม และอินเดีย ซึ่งปัญหาขาดแคลนน้ำส่งผลให้โรงกลั่น MRPL หยุดดำเนินการกลั่นบางหน่วย โดย MRPL ต้องตัดสินใจว่าจะกลับมาดำเนินการหรือลดอัตราการกลั่นลง ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลในเดือน เม.ย. 59 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.3% มาอยู่ที่ 109.8 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.03 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.04 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 พ.ค. 59 ลดลง 769,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 13 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลทั้งซัลเฟอร์สูงและต่ำในเอเชีย ถูกกดดันหลังอินเดีย, จีน และเกาหลีใต้ กลับมาส่งออกอีกครั้ง โดยเฉพาะจีนมีแนวโน้มส่งออก น้ำมันดีเซลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ในเดือน มิ.ย. 59 ซึ่งปริมาณการส่งออกในเดือน เม.ย. 59 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 173% อยู่ที่ระดับ 309,000 บาร์เรลต่อวัน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล