กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รุกเปิดตัว วัสดุกักเก็บน้ำมัน นวัตกรรมจากน้ำยางพารา ที่ใช้ซ้ำได้ทั้งวัสดุและน้ำมันครั้งแรกของโลก นวัตกรรมใหม่จากน้ำยางพาราที่มุ่งแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมนำร่องแก้ปัญหากลุ่มจังหวัดติดทะเลขานรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนสังคมไทยก้าวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ "ประเทศไทย 4.0" ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังพบปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลอยู่เสมอ จากสถิติ พบว่า ในปี 2556 มีน้ำมันรั่วไหลมากกว่า 70 ตันลิตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง
สัตว์ทะเล รวมถึงสิ่งแวดล้อมในองค์รวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491 หรือเว็บไซต์ http://www.sci.tu.ac.th
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า นับเป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่ประเทศไทยติด"กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)"อันเนื่องมาจากประเทศโดยภาพรวมมีขีดความสามารถในการพัฒนาและผลิตนวัตกรรมค่อนข้างต่ำ รวมทั้งความแพร่หลายในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์นั้น ยังไม่เพียงพอต่อการผลักดันประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญระดับชาติที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไข โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะภาคการศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 8 ทศวรรษ มียุทธศาสตร์ในพัฒนาแนวทางการศึกษาที่เข้มแข็ง และทันโลกสมัยใหม่อยู่ตลอดเวลา ตลอดจนมุ่งสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมในทุกสาขาอาชีพ และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวหน้า ผ่านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ งานวิจัย และเทคโนโลยี อันสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการพาสังคมไทยก้าวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ "ประเทศไทย 4.0"
รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ไม่ได้มีเพียงบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสตร์ที่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมิติผสมผสานภายใต้แนวคิด"SCI+BUSINESS"หรือ
"นักวิทย์คิดประกอบการ"โดยมุ่งสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความสามารถในการประกอบการอย่างชาญฉลาด เป็นบัณฑิตศตวรรษใหม่ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลักดันผลงานเข้าสู่วงการธุรกิจได้ ไม่ใช่นักวิจัยที่อยู่เพียงแต่ในห้องทดลองเท่านั้น
โดยที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์จำนวนมากมายอาทิ"ปลาส้มอบแผ่นปรุงรสสำเร็จรูป""บรรจุภัณฑ์แบบ Active Packaging สำหรับลำไยสดไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อการส่งออก"รวมถึงนวัตกรรม "วัสดุกักเก็บน้ำมัน นวัตกรรมจากน้ำยางพารา" เพื่อช่วยแก้ปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำมันรั่วไหล
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวดี ก้องพารากุล อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้พัฒนานวัตกรรม "วัสดุกักเก็บน้ำมัน นวัตกรรมจากน้ำยางพารา" กล่าวว่า "วัสดุกักเก็บน้ำมัน นวัตกรรมจากน้ำยางพารา ที่ใช้ซ้ำได้ทั้งวัสดุและน้ำมัน" ได้รับการสร้างสรรค์มาจากโจทย์ปัญหาของประเทศเรื่องการรั่วไหลของน้ำมันสู่ทะเลรวมถึงแหล่งน้ำสาธารณะเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบอันตรายต่อระบบนิเวศได้ หากไม่มีการขจัดคราบน้ำมันอย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องนำเข้าวัสดุดูดซับจากต่างประเทศในราคาสูงอีกทั้งยังผลิตจากสารเคมีที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ ซึ่งจัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป จากความสามารถในการตอบโจทย์การแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้นวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ ระดับดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ฯลฯ
โดยนวัตกรรมดังกล่าว มีประสิทธิภาพการดูดซับน้ำมันได้ทุกชนิดมากกว่า 10 เท่าของน้ำหนักวัสดุเริ่มต้น และดูดซับทันทีหรือ ไม่เกิน 3 วินาทีแรกที่สัมผัสกับน้ำมันตลอดจนสามารถนำมาใช้ซ้ำได้มากกว่า 100 ครั้ง อีกทั้งอีกหนึ่งคุณสมบัติ สำคัญคือ น้ำหนักเบา ทำให้สามารถลอยตัวอยู่บนผิวน้ำได้เป็นอย่างดีและไม่ดูดซับน้ำ โดยปัจจุบันนวัตกรรมดังกล่าวได้รับการออกแบบให้อยู่ในรูปของชุดดูดซับน้ำมันพาราโวลา ซึ่งภายในบรรจุพาราโวลาสตริปที่มีความยาวรวม 7 เมตรโดยสามารถกักเก็บน้ำมันได้ถึง 20 ลิตรต่อชุด ทั้งนี้ หากจำลองเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลครั้งยิ่งใหญ่ บริเวณเกาะเสม็ดเมื่อปี 2556 (ประมาณ 50 ตัน; สถิติกรมเจ้าท่า) นวัตกรรมดังกล่าว จะใช้ชุดดูดซับน้ำมันพาราโวลา 25 ถัง เมื่อมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง 100 ครั้งโดยใช้เมื่อใช้ร่วมกับเครื่องรีดน้ำมัน โดยนอกจากนี้ยังสามารถกักเก็บน้ำมันไว้ในตัววัสดุ ไม่ยอมให้น้ำมันไหลผ่าน จึงสามารถใช้กั้นเพื่อจำกัดอาณาบริเวณที่มีน้ำมันปนเปื้อนในน้ำได้ โดยจะแยกน้ำและน้ำมันออกจากกันอย่างชัดเจน โดยสามารถใช้ได้กับน้ำมันทุกชนิด อย่างไรก็ตามวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตคือน้ำยางพาราซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย รวมทั้งช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าวัสดุกำจัดคราบน้ำมันจากต่างประเทศได้กว่าเท่าตัว นับว่าเป็นการตอบสนองมาตรการกระตุ้นการแปรรูปยางพารา โดยการเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วยนวัตกรรม เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยหันมาสนใจแปรรูปยางพาราเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและสามารถทำตลาดโลกได้ด้วยนวัตกรรมของคนไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวดีกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน นวัตกรรมดังกล่าวได้รับการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ "Paravola" ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นจากความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวดี และ บริษัท ไพร้ช อินโนเวชั่น จำกัด (Price Innovation Co., Ltd.) ภายใต้การผลักดันของสำนักทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TUIPI)โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการทำงานแบบบูรณาการรอบด้านคือการสร้างสรรค์นวัตกรรมจากแหล่งวัตถุดิบในประเทศไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพื่อความยั่งยืนบนพื้นฐานการผลิตและการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สินค้านวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยมีการทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมตามมาตรฐานสากลที่เชื่อถือได้นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องรีดสำหรับการใช้งานพาราโวลาแบบต่อเนื่องร่วมกับทีมวิศวกร จาก บริษัท ไอ พี บิสซิเนส (IP Business Co., Ltd.) ซึ่งพร้อมจำหน่ายสู่เชิงพาณิชย์เช่นเดียวกัน ซึ่งในช่วงแรกมุ่งตั้งเพื่อแก้ปัญหา กลุ่มจังหวัดต่างๆ ติดทะเล ที่มีโอกาสเกิดปัญหาน้ำมันรั่วไหลอาทิ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม พัทยา เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้กับพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถขจัดคราบน้ำมันได้อย่างรวดเร็วและช่วงที่สองมุ่งเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวพันกับการใช้น้ำมัน อาทิ โรงฟอกหนัง โรงงานแปรรูปอาหาร
โรงพิมพ์ฯลฯ และในช่วงที่สามเตรียมพัฒนาเข้าสู่การใช้งานในครัวเรือนต่อไปทั้งนี้ "Paravola" ถือเป็นผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ที่เกิดภายใต้แนวคิด "SCI+BUSINESS"ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมธ. โดยมีสำนักทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจมธ. เป็นผู้สนับสนุน และผลักดันให้เกิดการต่อยอดในเชิงพาณิชย์อย่างสมบูรณ์
การเปิดตัวผลิตภัณฑ์พาราโวลา (Paravola) "วัสดุกักเก็บน้ำมัน นวัตกรรมจากยางพารา ใช้ซ้ำได้ทั้งวัสดุและน้ำมัน"
ในครั้งนี้ นับเป็นการเสนอแนวทางให้ผู้ประกอบการและนักวิจัยหันมาสนใจแปรรูปยางพาราที่สร้างสรรค์จากนวัตกรรมของคนไทย รวมทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวคือ ใช้ภูมิปัญญาคนไทยในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน เช่น การกระจายรายได้สู่ชุมชน การเพิ่มช่องทางการผลิตสินค้ายางพารารูปแบบใหม่สู่ตลาดสากล โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานอย่างบูรณาการทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และภาคเอกชน ที่มีการมองมิติทางด้านการสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์สังคมและเศรษฐกิจ การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรบนหลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทย พบปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลอยู่เสมอ โดยสถิติจากกรมเจ้าท่า พบว่า ในปี 2556 มีน้ำมันรั่ว 7 ครั้ง รวมปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลมากกว่า 70 ตันลิตร โดยส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเตาและน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง สัตว์ทะเล รวมถึงสิ่งแวดล้อมในองค์รวมหากปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรงในระยะยาว ดังนั้นภาครัฐจึงควรเข้ามากำกับดูแล และวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วอย่างเป็นระบบ.ในขณะเดียวกันภาคเอกชนที่มีความเสี่ยงในการก่อปัญหาน้ำมันรั่วก็ควรดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย และคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ส่วนภาคการศึกษาก็ควรมีส่วนร่วมในการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหา และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเช่นกันผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวดี กล่าว
สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491 หรือเว็บไซต์http://www.sci.tu.ac.th