กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๑ พ.ค. ๕๙) นางเสาวนีย์ โขมพัตร โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.)ได้มอบหมายให้ตน และคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ร่วมเป็นคณะผู้แทนไทย เดินทางเข้าร่วม การประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ ๒๕ ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อนำเสนอรายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙
นางเสาวนีย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ มีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และมีผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ ๒๕ ได้กำหนดจะนำเสนอรายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก UPR รอบที่ ๒ ซึ่งกระบวนการ UPR เป็นกลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ ในรูปแบบของการทบทวนโดยรัฐกันเอง (Peer Review) โดยแต่ละรัฐจะรับฟังข้อเสนอแนะจากรัฐอื่นๆ ด้วยการพิจารณาตอบรับข้อเสนอแนะ รวมถึงประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ และนำมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในประเทศ อีกทั้งกำหนดให้รายงานผลการดำเนินการให้แก่คณะทำงาน UPR ทราบทุก ๔ ปีครึ่ง
นางเสาวนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับกระบวนการ UPR เนื่องจากเป็นกลไกที่สร้างสรรค์สมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศเข้าร่วมรายงานอย่างเท่าเทียม ไม่มีข้อยกเว้น และมีโอกาสให้ข้อคิดเห็นกับประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศไทย ได้นำเสนอรายงานรอบที่ ๑ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ โดยได้รับข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปฏิบัติทั้งสิ้น ๑๓๔ ข้อ และประกาศคำมั่นโดยสมัครใจอีก ๘ ข้อ นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอรายงานความคืบหน้าช่วงกลางรอบเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ โดยสมัครใจ และได้ส่งรายงานประเทศตามกลไก UPR รอบที่ ๒ ให้แก่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ โดยรายงานดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการจัดทำโดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงได้รับฟังความเห็นจาก ภาคประชาสังคม หารือรับฟังความเห็นในต่างจังหวัด โดยรายงานมีสาระครอบคลุมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอย่างครอบคลุม ทั้งในส่วนของสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิของ กลุ่มเปราะบางต่างๆ โดยนำเสนอทั้งพัฒนาการ ความสำเร็จ ความท้าทาย และทิศทางในอนาคต สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้อง กับภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่คาดว่าจะถูกหยิบยกในการนำเสนอรายงานครั้งนี้ เช่น การปราบปรามการค้ามนุษย์ (รวมถึงการช่วยเหลือผู้เสียหาย/คดีในศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์) พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. ๒๕๕๙ การจดทะเบียนเด็กแรกเกิด (รวมทั้งเด็กในกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หนีภัย และผู้มีปัญหาสถานะ) การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๖๔) เป็นต้น
"อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะมีบทบาทสำคัญในการรายงาน ผลดำเนินงานในการส่งเสริมสิทธิของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ อาทิ เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และ กลุ่มเปราะบางทางสังคม รวมถึงการดำเนินการด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย และพร้อมที่จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากทุกประเทศ เพื่อจะนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อไป" นางเสาวนีย์ กล่าวในตอนท้าย