กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 37 จังหวัด จากการติดตามสภาพอากาศในช่วงฤดูฝน คาดว่ามีแนวโน้มเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในระหว่างปลายเดือนมิถุนายน – ต้นเดือนกรกฎาคม 2559 จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ อีกทั้งระยะนี้บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางพื้นที่ จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมืออันตรายจากภาวะฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ระยะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกกระจาย แต่ส่วนใหญ่ฝนไม่ได้ตกในพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณน้อย จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ยังคงมีสถานการณ์ภัยแล้ง โดยปัจจุบัน (วันที่ 30 พฤษภาคม 2559) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 37 จังหวัด 238 อำเภอ 1,241 ตำบล 9,934 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 13.25 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 12 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ พังงา และชุมพร จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และจันทบุรี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 18 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี สระแก้ว ขอนแก่น ปราจีนบุรี ลำปาง อุทัยธานี กำแพงเพชร ราชบุรี และแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องในพื้นที่ ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แก่ประชาชน จัดวงรอบในการนำรถบรรทุกน้ำสะอาดไปเติมยังจุดจ่ายน้ำกลางให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่ามีแนวโน้มเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในระหว่างปลายเดือนมิถุนายน – ต้นเดือนกรกฎาคม 2559 จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เลื่อนการทำนาปีออกไปจนกว่าจะมีฝนตกตามฤดูกาลปกติ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ระยะนี้บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ เลย จันทบุรี ตราด ระนอง กระบี่ พังงา และภูเก็ต ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ หากน้ำเปลี่ยนเป็นสีขุ่น มีฝนตกหนักต่อเนื่อง จะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที กรณีสถานการณ์รุนแรงได้เน้นย้ำให้ดำเนินการ ตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แผนปฏิบัติการ และแผนเผชิญเหตุของอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงพิจารณาสั่งการอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและเตรียมพร้อมศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้ประสบภัย เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชน ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th