กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กระทรวงยุติธรรม
กรมพินิจฯ กระทรวงยุติธรรม จัดโครงการให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู ให้แก่เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ทั้งก่อนกระทำความผิด ระหว่างถูกดำเนินคดี และก่อนกลับคืน สู่สังคม เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม กำหนดจัดโครงการ “นำชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไข บำบัด และฟื้นฟู เด็กและเยาวชนกระทำความผิดอย่างยั่งยืน”ซึ่งปัจจุบันการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มีปัจจัยสาเหตุสำคัญมาจากพื้นฐานสถาบันครอบครัว ซึ่งมีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำตั้งแต่ก่อนกระทำความผิด เช่น ถูกทารุณกรรมจากสมาชิกในครอบครัว ครอบครัวขาดความสงบสุข ครอบครัวอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเสมือนแรงผลักดันที่ทำให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิด ทั้งจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจากความตั้งใจ เมื่อเด็กและเยาวชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กรมพินิจฯ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบจึงต้องเข้ามาดูแล แก้ไข ฟื้นฟูให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้มีความพร้อมและสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้ต่อไป ขณะเดียวกันสถาบันครอบครัวก็มิได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น เมื่อเด็กและเยาวชนพ้นจากการกระทำความผิดก็ต้องกลับไปเจอปัญหาเดิม ๆ อีก ย่อมทำให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ
จากสาเหตุดังกล่าวกรมพินิจฯและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจึงได้จัดกิจกรรม “ประชุมเชิงปฏิบัติการผู้นำชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไข บำบัด และฟื้นฟูเด็กและเยาวชน” ภายใต้โครงการ “นำชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไข บำบัด และฟื้นฟู เด็กและเยาวชนกระทำความผิดอย่างยั่งยืน” ขึ้น ในวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2548 ณ ห้องแสตมป์ทอง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (หลังที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนแก่ผู้นำชุมชน รวมทั้งให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชนกระทำความผิด ทั้งระบบครบวงจรและยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่เด็กและเยาวชน จะกลับคืนสู่สังคมต่อไป--จบ--