กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" แนวคิดอันทรงคุณค่าของไทยที่นำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยและแนวทางการบริหารจัดการของประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 17 เป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2573 ได้รับการกล่าวถึงในการประชุมนานาชาติ เรื่อง "ภาวะผู้นำแบบยั่งยืน" จัดโดยสถาบันเพื่อภาวะผู้นำที่ยั่งยืน ร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนา และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตอกย้ำว่า แนวคิดของความพอเพียงนับเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและยาวนานสำหรับบุคคลทั่วไป องค์กร ธุรกิจต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ระดับครัวเรือน และระดับประเทศทั่วโลก
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ หลักแนวคิดในการตัดสินใจสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้นและพัฒนามากว่า 40 ปี และประเทศได้น้อมรับหลักปฏิบัติภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนมาเป็นนโยบายแห่งชาติเป็นครั้งแรกเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง และปัญหามลภาวะเป็นพิษที่เกิดจากการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์จากเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ ทุกองค์กรได้ประยุกต์ใช้แนวทางนี้เพื่อรักษาชุมชนท้องถิ่น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ขององค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร โดยเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจในเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนวทางให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงที่ประเทศเผชิญความผันผวน สู่การฟื้นตัวและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดหลัก 'ทางสายกลาง' จะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมสำหรับคนในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศในโลกโลกาภิวัตน์
ศาสตราจารย์ ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี และ ศาสตราจารย์ ดร.ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันเพื่อภาวะผู้นำที่ยั่งยืน กล่าวว่า "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดเพื่อการตัดสินใจบนพื้นฐานของศีลธรรมและวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิต สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในแนวทางที่เหมาะสม ทั้งในระดับตัวบุคคลและระดับชาติ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ คือ การมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน อันรวมถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันในการฟันฝ่าอุปสรรค ความสามารถในการเผชิญปัญหา การปรับตัวตามสถานการณ์ และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข"
ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งร่วมเขียนบทวิจัยเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนา ในปี พ.ศ. 2542 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีนักวิชาการจำนวนมากตีพิมพ์บทความต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักปรัชญานี้มาโดยตลอด จนปี พ.ศ. 2548 ได้มีการนำเสนอปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องภาวะผู้นำแบบยั่งยืน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการ รวมทั้งผู้นำทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อต้องการศึกษาและเข้าใจในหลักการต่าง ๆ ของภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน
สำหรับการประชุมนานาชาติ เรื่อง "ภาวะผู้นำแบบยั่งยืน" ที่จัดขึ้นในปีนี้ มุ่งเน้นการนำแนวความคิดของความพอเพียงไปปฏิบัติในธุรกิจต่าง ๆ ในวงกว้าง เช่น สุขภาพ การเกษตร และธุรกิจเอกชน โดย ศ.ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี และ ศ.ดร. ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ นำเสนอหลักปฏิบัติของภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน รวมถึงกรณีศึกษาใหม่ ๆ และการวิเคราะห์ในความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของภาวะผู้นำแบบยั่งยืน ซึ่งในโอกาสนี้ ศ.ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี และ ศ.ดร. ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ ได้เปิดตัวหนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง: ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน"(Sufficiency Thinking: Thailand's gift to an unsustainable world) ที่ทั้งสองท่านร่วมเรียบเรียงซึ่งประกอบด้วยมุมมองของผู้เชี่ยวชาญชาวไทย 20 ท่าน หนังสือเล่มนี้ยังมีการสรุปสาระสำคัญในการนำหลักปรัชญานี้ไปปฏิบัติในภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ แวดวงการพัฒนาชุมชน ธุรกิจ เกษตรกรรม สุขภาพ สถาบันการศึกษา หรือทัณฑสถาน
รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร กรรมการสถาบันมั่นพัฒนา ได้นำเสนอสาระสำคัญจากการศึกษาครั้งนี้ในหนังสือ คือ องค์กรต่าง ๆ ได้น้อมรับหลักการภาวะผู้นำแบบยั่งยืนมาปฏิบัติใช้ เพื่อสร้างการพัฒนาแบบยั่งยืนและยาวนาน โดยหลักการนี้สามารถใช้ได้ทั้งในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ไทย หรือในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา สำหรับกรณีศึกษาที่เขานำเสนอในหนังสือ ได้แก่ ความสำเร็จของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในองค์กรชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) องค์การด้านการสื่อสารชั้นนำในประเทศไทย ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยล้วนปฏิบัติตามหลักการภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด
ศ.ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี กล่าวว่า องค์กรที่มีหลักความพอเพียงได้ต้องเป็นองค์กรที่มีผลประกอบการทางการเงินที่เข้มแข็ง และสามารถรับมือต่ออุปสรรคต่าง ๆ ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยยังรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดได้ หลักความพอเพียงจึงเป็นหลักการที่ส่งเสริมความสำเร็จอย่างต่อเนื่องให้แก่องค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือองค์กรในประเทศตลาดเกิดใหม่
ศ.ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี และ ศ.ดร. ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ เน้นย้ำในหนังสือว่า"การศึกษาล่าสุดจากหนังสือนี้ถือเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการนำหลักการนี้ไปปฏิบัติในกลุ่มต่าง ๆ ของสังคม ภาคประชาชน และองค์กร และนับเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งสำหรับผู้บริหารองค์กรหรือในหมู่คณะขนาดเล็ก เพียงแค่มีการนำบางส่วนของหลักการนี้ไปปฏิบัติ ก็จะสามารถทำให้องค์กรไทยหรือแม้แต่องค์กรข้ามชาติทั้งหลายเติบโตและสามารถรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างแน่นอน"
สำหรับกรณีศึกษา บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไทยนั้น รศ.ดร.สุขสรรค์ ได้ศึกษาวิเคราะห์โดยอ้างอิงหลักการภาวะผู้นำแบบยั่งยืน ของ ศ.ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี และศ.ดร.ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ พบว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ได้นำหลักการภาวะผู้นำแบบยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจในทุกด้าน ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของหลักการนี้ที่องค์กรขนาดใหญ่เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย นำมาใช้ได้ผล จึงต้องใช้ได้กับองค์กรข้ามชาติชั้นนำต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการประสบความสำเร็จทางธุรกิจ จึงควรนำหลักการภาวะผู้นำแบบยั่งยืนทั้ง 23 ประการของ ศ. ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี และศ.ดร. ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ มาประยุกต์ใช้
"กรอบความคิดนี้ยังช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถศึกษาถึงหลักการภาวะผู้นำของพวกเขาอย่างมีระบบ และใช้เป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น" รศ.ดร.สุขสรรค์ เน้นย้ำ
หนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง: ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน" รวบรวมความคิดหลากหลายของนักวิชาการต่าง ๆ เพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่มั่นคงและมีความสุข ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ โดยหลักการภาวะผู้นำแบบยั่งยืนคือกระบวนความคิดที่ธุรกิจสามารถนำไปวางแผนและแนวทางเพื่ออนาคตขององค์กร โดยไม่กระทบต่อการสร้างผลกำไรและผู้ถือหุ้นองค์กรต่าง ๆ จึงควรนำปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง และหลักการภาวะผู้นำแบบยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานองค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถรับมือวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต และสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร
หนังสือ "แนวคิดของความพอเพียง: ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน (Sufficiency Thinking: Thailand's gift to an unsustainable world)" มีจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป และสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชม www.instituteforsustainableleadership.com