กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--กรมประมง
หอยลาย เป็นอาหารทะเลที่รสชาติดีมีคุณค่าทางโภชนาการและนิยมนำมาบริโภคกันอย่างแพร่หลาย สามารถประกอบอาหารได้หลากหลายประเภท อีกทั้งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของไทยอาชีพ "เลี้ยงหอยลายในบ่อ" จึงอาจเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่นๆ
น.ส.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หอยเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางอาหารไม่น้อยกว่าสัตว์น้ำจำพวกปลา ปู และกุ้ง มนุษย์กินหอยเป็นอาหารมาเป็นเวลายาวนาน ทุกวันนี้สัตว์จำพวกหอยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศ อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงหอยไม่ว่าจะนำมาเพื่อทำเป็นอาหาร หรือการเลี้ยงหอยมุกเพื่อเก็บเอาไข่มุกมาขายก็ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่สร้างความรุ่งเรืองและทำกำไรให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงและประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะหอยสายพันธุ์ต่างๆ มาโดยตลอด เห็นได้จากการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย เพื่อควบคุมการทำประมงหลายมาตรการ อีกทั้งยังมีการศึกษา วิจัย การเพาะขยายพันธุ์ และฟื้นฟูแหล่งพ่อแม่พันธุ์หอย โดยการปล่อยลูกพันธุ์เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรหอยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น หอยมือเสือ หอยตะเภา หอยพิม หอยหวาน หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยมุก หอยตลับ ฯลฯ และล่าสุดนี้กรมประมงได้ทดลองเลี้ยงหอยลายในบ่อดินจนเป็นผลสำเร็จและเตรียมที่จะขยายผลไปสู่เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยตามชายฝั่งเพื่อช่วยให้เกษตรกรลดการรบกวนหอยลายจากธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการช่วยลดต้นทุนในการประกอบอาชีพเนื่องจากไม่ต้องเสียค่าน้ำมันออกเรือไปหาหอยจากธรรมชาติ ซึ่งก็เสี่ยงว่าในแต่ละวันจะสามารถหาหอยได้จำนวนมากหรือน้อย เพราะถ้าเป็นหอยที่เลี้ยงไว้จะสามารถคาดเดาปริมาณผลผลิตได้แน่นอนกว่า
นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หอยลายพบแพร่กระจายมากบริเวณปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่จากการศึกษากลับพบว่าหอยลายถึงแม้จะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ แต่ก็ยังไม่มีผลงานวิจัยด้านการเลี้ยงในทะเลหรือในบ่อกันอย่างอย่างจริงจังมากเท่าที่ควร เนื่องจากหอยลายเป็นสัตว์น้ำที่ต้องใช้น้ำทะเลที่มีอาหารธรรมชาติสมบูรณ์ หากคุณภาพน้ำหรือระบบ
นิเวศไม่สมบูรณ์ หอยลายก็จะตายหรือไม่ก็จะไม่สืบพันธุ์ ทางศูนย์ฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและเพาะขยายพันธุ์หอยชนิดนี้จนประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2545 และต่อไปในอนาคตได้มีการวางแผนที่จะนำลูกพันธุ์หอยลายที่ได้ไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งสร้างเครือข่ายการเพาะขยายพันธุ์หอยให้ เกษตรกรได้นำไปเลี้ยงกันในบ่อดิน เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพที่สร้างความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไป
น.ส. สุนิตา เลี่ยมใหม่ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กล่าวเพิ่มเติมในฐานะนักวิชาการที่เพาะขยายพันธุ์หอยลายว่า ลักษณะโดยทั่วไปของหอยลายจะเป็นหอยสองฝา เปลือกบาง รูปร่างยาวรี มีลวดลายตาข่ายเป็นสีน้ำตาลพาดตลอดความยาวของเปลือก ช่วงที่มีการสมพันธุ์กันมากที่สุด อยู่ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม กับเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน โดยหอยที่สามารถสืบพันธุ์ได้จะมีขนาดความยาวตั้งแต่ 3 ซม.ขึ้นไป ชอบฝังตัวอยู่ในพื้นดินเลนหรือโคลนเหลว หรือดินโคลนปนตะกอนละเอียด ทางศูนย์ฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติมาขุนเลี้ยงให้สมบูรณ์พร้อมสืบพันธุ์ ซึ่งในทุกขั้นตอนก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในถังไฟเบอร์กลาส การบริหารจัดการระบบน้ำซึ่งทางศูนย์ฯ ได้จัดทำระบบน้ำไหลเลียนแบบธรรมชาติเพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพเอื้อต่อการเจริญพันธุ์ การคัดเลือกอาหารของพ่อแม่พันธุ์รวมถึงลูกพันธุ์จะต้องมีการคัดขนาด ลดความหนาแน่นตลอดการอนุบาล ซึ่งหลังจากที่เพาะขยายลูกพันธุ์หอยได้สำเร็จ ทางศูนย์ฯ จะทำการอนุบาลก่อนลงบ่อดินจนได้ขนาดประมาณ 2 ซม. ซึ่งขั้นตอนในการอนุบาลนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการที่จะกำหนดว่าลูกพันธุ์หอยที่ได้จะมีอัตราการรอดมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นการเฝ้าสังเกตลูกพันธุ์จึงเป็นข้อมูลสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพหอยเป็นอย่างมาก ทางศูนย์ฯ
ได้เลี้ยงลูกพันธุ์หอยประมาณ 3 ระยะด้วยกัน ระยะที่ 1 ตัวอ่อนจะเลี้ยงและสังเกตจากบ่อไฟเบอร์กลาสและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ระยะที่ 2 นำมาเลี้ยงต่อในระบบน้ำผุดใช้น้ำจากบ่อดินปรับสภาพก่อนนำไปเลี้ยงในบ่อดิน ลดต้นทุนเร่งการเจริญเติบโต ระยะที่ 3 จะนำลูกพันธุ์หอยไปปล่อยในบ่อดินของทางศูนย์ฯ ซึ่งจะเจอกับสภาวะอากาศของจริงเพื่อให้ลูกพันธุ์แข็งแรงและปรับตัวกับธรรมชาติก่อนที่เกษตรกรจะนำไปเลี้ยง
ขณะนี้ทางศูนย์ฯ ได้เร่งเพาะขยายพันธุ์ให้ได้ลูกหอยจำนวนมาก พันธุ์หอยบางส่วนจะถูกเตรียมนำลงไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ บางส่วนจะนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างเครือข่ายเพื่อให้ผลผลิตหอยลายของทางศูนย์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันทางศูนย์ฯ สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ 2 รุ่น/เดือน ได้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตัว/เดือน ซึ่งถือว่าผลงานออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ และแน่นอนว่าหากทางศูนย์ผลิตพันธุ์หอยลายได้ปริมาณมากพอซึ่งคาดว่าอีกไม่นานนี้อย่างแน่นอนก็จะเตรียมแบ่งพันธุ์หอยลายขายให้กับเกษตรกรเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ ท่านใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ โทร.032-661-398