อย. ชี้แจงการดำเนินการกับยาซิซาไพรด์

ข่าวทั่วไป Monday August 7, 2000 12:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--อย.
อย. ชี้ มิได้นิ่งนอนใจต่อข่าวผลข้างเคียงจากการใช้ยาโรคทางเดินอาหาร ' ซิซาไพรด์ ' ได้นำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการยาแล้ว มติโดยสรุปให้เข้มงวดและควบคุมการใช้ยานี้อย่างเป็นระบบ ขายได้เฉพาะในโรงพยาบาล และให้ อย. เป็นศูนย์กลางการกำกับดูแลการกระจายยาเท่านั้น เผย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เห็นว่า ยานี้ยังจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยบางราย ซึ่งไม่มียาตัวอื่นใช้ทดแทนภญ.อังกาบ เวสโกสิทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของยาซิซาไพรด์ (CISAPRIDE) ซึ่งเป็นยาสำหรับโรคทางเดินอาหาร โดยเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ต่อหัวใจ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดอาการผิดปกติของหัวใจ และเอ็นจีโอเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ถอนทะเบียนตำรับยา ว่า ในเรื่องดังกล่าว อย.มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ได้นำเรื่องยาซิซาไพรด์เข้าประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมอันตรายในการใช้ยาทันที ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 2543 จนถึงปัจจุบัน รวม 3 ครั้ง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาถึงผลดีและผลเสียของยาซิซาไพรด์ โดยพิจารณาทุกประเด็นอย่างกว้างขวาง และรอบคอบแล้ว ทั้งความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร และราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความเห็นสอดคล้องกับการดำเนินงานของประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา ยาดังกล่าวยังมีประโยชน์ในผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นต้องใช้ และไม่มียาตัวอื่นทดแทน อย่างไรก็ตาม เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการควบคุมการใช้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งจะนำเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณาทบทวนรายการยานี้ในบัญชียาหลักให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้มีการใช้โดยแพทย์เฉพาะทางและใช้กับโรงพยาบาลที่มีระบบการกำกับ ประเมิน และตรวจสอบการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น มติทั้งหมดนี้ ได้นำเสนอคณะกรรมการยาพิจารณาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2543 ซึ่งคณะกรรมการยาพิจารณาเห็นชอบ และมีมติจัดให้ยาซิซาไพรด์เป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งจะจำหน่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาล โดยกำหนดให้ อย.เป็นศูนย์กลางการกำกับดูแลการกระจายยา นอกจากนี้ยังให้ผู้ผลิต ผู้นำสั่งฯ และแพทย์เฉพาะทางต้องรายงานข้อมูลการผลิต นำสั่งยา และการใช้ในผู้ป่วยให้ อย.ทราบทุก 3 เดือน และให้เป็นยาที่ต้องติดตามความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ให้บริษัทผู้ผลิตและนำเข้า ปรับข้อบ่งใช้ของยาให้มีความเฉพาะเจาะจง ให้มีข้อความคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ระบุไว้ในฉลากและเอกสารกำกับยา--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ