กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
• กสอ. ส่งผู้ประกอบการไทยประกวดบรรจุภัณฑ์โลกคว้า 5 รางวัล ณ มุมไบ โดยผลงานไฮไลท์ ได้แก่ กล่องขนมไหว้พระจันทร์ "ราชินีแห่งจันทรา" และ "มาลาผลิบาน" กล่องใส่ส้มในเทศกาลตรุษจีน "จักรพรรดิสีทอง" กล่องเก็บของ "คลังเครื่องมือช่าง" และกล่องใส่เครื่องประดับ"เจิดจรัสอัญมณี"
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) รุกยุทธศาสตร์ High Value Thailand ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทย พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาวเตรียมดันโครงการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญา การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป การสร้างและพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ เป็นต้น โดยคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ได้กว่า 15-20% ต่อปี อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้ กสอ. ได้จัดการประกวดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย (Thai Star Packaging Awards) และส่งตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดในงานประกวดบรรจุภัณฑ์โลก World Star & World Star Student Awards ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย โดยผลงานบรรจุภัณฑ์ของไทยสามารถคว้ารางวัลจากการประกวด ระดับโลกมาได้ถึง 5 รางวัล
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยโดยนำยุทธศาสตร์ในการสร้างคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ (High Value Thailand) มาเป็นแนวทางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในเชิงอรรถประโยชน์หรือเชิงภาพลักษณ์ ซึ่งจะนำไปสู่มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ และเป็นภูมิคุ้มกันจากการลอกเลียนแบบ รวมทั้งผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรมีความพร้อมในการสร้างสรรค์คุณค่าให้สอดคล้องเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างคุณค่าทางจิตใจผ่านภาพลักษณ์ที่สวยงาม โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ และสามารถปรับตัวให้สอดคล้องตามทิศทางตลาดในปัจจุบันซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาวให้แก่ผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก
ดร. สมชาย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กสอ. ได้มีโครงการต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในการเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป การสร้างและพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ของผู้ประกอบการในด้านการผลิตสินค้าให้มีความแตกต่างและมีมูลค่าที่สูงขึ้นทั้งในด้านของคุณภาพ ความสวยงาม และภาพลักษณ์ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่สามารถยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมสู่การเติบโตทางธุรกิจในอนาคต โดยในปี 2559 กสอ. ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 600 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพในการผลิตของประเทศ รวมทั้งคุณค่าของผลิตภัณฑ์ไทยที่สูงขึ้นโดยคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ได้กว่า15-20% ต่อปี
ดร. สมชาย กล่าวต่อว่า กสอ. ได้จัดการประกวดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย (Thai Star Packaging) ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์ High Value Thailand เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทยให้มีเวทีแสดงความสามารถ และค้นหาต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีศักยภาพซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องถึง 39 ปี โดยผลจากการประกวดดังกล่าวได้นำผลงานที่โดดเด่นส่งเข้าประกวด World Star Awards 2016 ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย โดยได้รับรางวัลทั้งสิ้น 5 รางวัล โดยแบ่งเป็น บรรจุภัณฑ์ประเภท Luxury Packaging 3 รางวัล ซึ่งเป็นผลงานจาก บริษัท สยามคราฟท์ อุตสาหกรรม จำกัด ได้แก่ กล่องขนมไหว้พระจันทร์ "ราชินีแห่งจันทรา" และ "มาลาผลิบาน" กล่องใส่ส้มในเทศกาลตรุษจีน "จักรพรรดิสีทอง" นอกจากนี้ ยังมีผลงานจากนักศึกษาไทยที่ได้รับรางวัล WorldStar Student Packaging Awards 2015 อีกจำนวน 2 รางวัลได้แก่ ผลงานกล่องเก็บของ "คลังเครื่องมือช่าง" และกล่องใส่เครื่องประดับ "เจิดจรัสอัญมณี" นับเป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จของการต่อยอดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของไทยอีกหนึ่งขั้น และเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมระดับประเทศ โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทรวม 1,513 ราย มีมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท (ที่มา: Packaging Intelligence Unit) ดร. สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือเข้าไปที่www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr