กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--สสว.
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของ SME หรือ GDP SME ในไตรมาสแรก ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ5.1 นับเป็นการขยายตัว 7 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีมูลค่า 1.49 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วน GDP SME ต่อ GDPของประเทศ ขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.3 จากร้อยละ 41.1 ในปี 2558
ซึ่งการเติบโตของ GDP SME นี้ มาจากการขยายตัวของภาคบริการเป็นสำคัญ ที่โดดเด่นมากคือธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2558 รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ส่งผลต่อภาคการบริการและภาคการค้า โดยสาขาธุรกิจที่มีการขยายตัวสูงในไตรมาสแรกของปีนี้ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรมและภัตตาคาร ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ส่วนธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้ดี ได้แก่ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจบริการทางการเงิน และธุรกิจบริการด้านสุขภาพและจากการที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโต ภาคการก่อสร้างและภาคการค้า ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากโครงการลงทุนและมาตรการส่งเสริมต่างๆ จากภาครัฐ สสว. จึงยังคงประมาณการ GDP SME ปี 2559เท่ากับร้อยละ 5.0 - 5.5
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ในเดือนเมษายน 2559 สาขาธุรกิจการท่องเที่ยวและขนส่ง (มวลชน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากสอดคล้องกับภาวะการท่องเที่ยวที่ดีมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาว แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการในภาพรวมจะปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม 2559 เล็กน้อย เนื่องจากการหยุดยาวของธุรกิจในภาคค้าปลีกและภาคบริการบางสาขา
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ในเดือนเมษายน 2559 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคมจากระดับที่ 100.4มาอยู่ในระดับที่ 95.0 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านยอดจำหน่ายและกำไร ที่ลดลงจากภาคการค้าปลีก โดยเฉพาะในส่วนของค้าปลีกดั้งเดิมและค้าวัสดุก่อสร้าง และการขนส่ง(สินค้า) ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดยาวของธุรกิจในหลายพื้นที่รวมถึงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตด้วย ในขณะที่ ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกลับมีดัชนีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นมากจากปัจจัยของยอดจำหน่ายและกำไร ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจขนส่ง (มวลชน) ที่ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากอยู่ที่ระดับ 120.4 และ 114.8 ตามลำดับ ส่วนธุรกิจโรงแรม ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 108.6 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ยังคงคึกคัก ในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวที่ประชาชนได้มีการเดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยว ส่วนสาขาธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นลดลงแต่ยังคงมีค่าดัชนีเกินกว่าฐานที่ 100 ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ซึ่งการปรับตัวลดลงของดัชนีในเดือนเมษายน ถือเป็นทิศทางปกติ เพราะหลายธุรกิจที่ไม่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวมักจะหยุดยาวเช่นกัน ทำให้รายได้ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้านั้น อยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า คือ จากที่ระดับ 104.8 ในเดือนมีนาคม 2559 เป็นที่ระดับ 105.4 ในเดือนเมษายน 2559 แสดงว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในทิศทางอนาคต
หมายเหตุ
ดัชนีความเชื่อมั่นที่ค่าฐาน 100 คือ ความเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจทรงตัว (% คนที่ตอบว่าดีขึ้นเท่ากับ % คนที่ตอบว่าแย่ลง)
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มากกว่า 100 คือ ความเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจดีขึ้น (% คนที่ตอบว่าดีขึ้นมากกว่า % คนที่ตอบว่าแย่ลง)
ดัชนีความเชื่อมั่นที่น้อยกว่า 100 คือ ความเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจแย่ลง (% คนที่ตอบว่าดีขึ้นน้อยกว่า % คนที่ตอบว่าแย่ลง
ดัชนีความเชื่อมั่นของ SME ในภาคการค้าและบริการ (TSSI) ของเดือนเมษายนที่ปรับตัวลดลงนั้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของประเทศ (BSI) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 95.0 99.6 และ 53.1 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันโดยรวมฟื้นตัวค่อนข้างช้า และประชาชนยังคงระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่าย แม้ว่าการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี และการส่งออกเริ่มฟื้นตัวก็ตาม
ดัชนีความเชื่อมั่น ม.ค. 59 ก.พ. 59 มี.ค. 59 เม.ย. 59
(เปรียบเทียบที่ค่าฐาน 100)
ปัจจุบัน คาดการณ์ ปัจจุบัน คาดการณ์ ปัจจุบัน คาดการณ์ ปัจจุบัน คาดการณ์
ดัชนีความเชื่อมั่น SME ภาคการค้าและบริการ (TSSI) 114.4 116.2 92.6 104.6 100.4 104.8 95.0 105.4
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของประเทศ (TISI) 86.3 100.1 85.1 100.8 86.7 98.3 85.0 97.2
ดัชนีความเชื่อมั่น ทางธุรกิจของประเทศ (BSI) 97.0 108.2 96.2 109.2 103.0 107.2 99.6 108.2
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) 55.3 83.5 54.7 82.7 53.7 81.5 53.1 80.5