กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลชื่นชมการเคลื่อนย้ายเสือออกจากวัดเสือและสนับสนุนให้รัฐบาลไทยห้ามวัดเสือขังเสือไว้ในกรงอย่างถาวร

ข่าวทั่วไป Wednesday June 1, 2016 15:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--wwf กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลชื่นชมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ที่ปฏิบัติการอย่างเฉียบขาดเพื่อเคลื่อนย้ายเสือออกจาก "วัดเสือ" (วัดป่าหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน) อย่างถาวร และย้ายเสือไปอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ในจังหวัดราชบุรี "เดือนที่ผ่านมา เรารู้สึกผิดหวังเมื่อวัดเสือได้รับอนุญาตจาก อส. ให้มีสถานะเป็นสวนสัตว์อย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะมีข้อกล่าวหาอันยาวนานและมีหลักฐานชัดเจนว่าวัดเสือทำการค้าเสือซึ่งเป็นการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายเสือออกจากวัดเสือในสัปดาห์นี้เป็นสิ่งที่รั้งรอให้ล่วงเลยมานาน และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นให้ อส. เคลื่อนย้ายเสือออกไปอย่างถาวร" คุณเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF-ประเทศไทย กล่าว นอกจากวัดเสือแล้ว ยังควรสืบหาสถานที่อื่นที่กักขังเสือเพื่อเป็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าเสือจะไม่ตกเป็นเหยื่อการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายและการทารุณกรรม หากพบสถานที่ที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยสัตว์ป่าภายในประเทศและระหว่างประเทศ จะต้องถูกห้ามมิให้มีการครอบครอง เป็นเจ้าของ และเพาะพันธุ์เสือ "รายงานวัดเสือ" จาก CEE4LIFE ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ชาวออสเตรเลียที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมของปีนี้ ประกอบด้วยข้อกล่าวหาที่น่าสะเทือนใจว่าวัดเสือทำการค้าสัตว์ป่าผ่านประเทศลาว อันเป็นการฝ่าฝืนทั้งระเบียบไซเตส (CITES: อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์) และกฎหมายไทย ทั้งนี้ตามความแห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ได้บัญญัติไว้ว่าการนำเข้าและส่งออกเสือและซากเสือเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย และมีโทษสูงสุดคือจำคุกสี่ปี และ/หรือ ปรับ 40,000 บาท รายงานนี้เป็นเครื่องตอกย้ำข้อสงสัยที่มีมานานว่าวัดเสือที่มีเบื้องหน้าราวกับเป็นสถานที่คุ้มภัยสำหรับเสือ ได้ลักลอบ ทำฟาร์มเสือรวมถึงจำหน่ายเสือและชิ้นส่วนของเสือให้แก่ตลาดมืดเพื่อผลกำไรมหาศาลไปในขณะเดียวกัน วัดแห่งนี้ไม่มีใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์ หรือไม่มีแม้แต่ใบอนุญาตให้ขังเสือเหล่านี้ไว้ในกรง ขณะที่รัฐบาลไทยยังคงวางเฉยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ห้ามการเพาะพันธุ์เสือในกรงขังและอนุญาตให้เสือใกล้ชิดสัมผัสกับประชาชน และจำนวนเสือได้เพิ่มขึ้นจาก 18 ตัวในปี พ.ศ.2550 เป็น 147 ตัวในปี พ.ศ.2559 และการจ่ายเงินเพื่อได้ใกล้ชิดสัมผัสประชาชนก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ การปิดวัดเสือและสถานที่ในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้จึงน่าจะยุติการค้าอย่างผิดกฎหมาย, การทุจริต และการกระทำทารุณได้ และทำให้ อส. สามารถทุ่มเทความพยายามของ อส. ไปที่การเพิ่มจำนวนเสือป่าในประเทศ จากข้อมูลของ อส. ระบุว่าประเทศไทยมีเสือที่ถูกขังกรงประมาณ 1200-1300 ตัว ในที่ต่างๆ อย่างน้อย 33 แห่ง การจับเสือไว้ในกรงขังสร้างความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงของประเทศในฐานะผู้นำการอนุรักษ์เสือมาเป็นเวลานานหลายปี ทั้งยังเป็นการบั่นทอนความพยายามปกป้องและอนุรักษ์เสือในป่าของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการยกระดับพันธกรณีโดยใช้ "แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง 2553-2565" และยังแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการและปฏิบัติตามภาระผูกพันภายใต้มติที่ประชุมไซเตส ที่ประชุมยังขอให้ประเทศต่างๆ ทบทวนวิธีบริหารจัดการของประเทศและควบคุมเสือที่ถูกจับขังในกรง และป้องกันมิให้เสือถูกค้าอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้เรายังสนับสนุนให้ อส. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเสือได้รับการเคลื่อนย้ายและดูแลอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสถานที่ที่ปลอดภัย มีใบอนุญาต ซึ่งเสือจะไม่ถูกทารุณกรรมหรือไม่ตกเป็นเหยื่อการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้นกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลจึงมีข้อเสนอแนะให้: · ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายเสือในขณะนี้ควรกระทำการอย่างถาวรและตามด้วยปฏิบัติการทางกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าวัดเสือจะไม่จับเสือขังกรงอีก · สำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบสวนตามข้อกล่าวหาในรายงานเรื่องการทารุณกรรมและการค้าเสืออันเป็นการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย · อส. ย้ายเสือไปอยู่ในสถานอนุรักษ์เสือที่มีชื่อเสียงและดูแลโดย อส. เท่านั้น และไม่มีสภาพการณ์ใดๆ ที่จะทำให้ต้องย้ายเสือกลับไปยังสถานยุวพุทธสงฆ์โลก ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดเสือ · อส. ใส่ไมโครชิพแสดงอัตลักษณ์ใต้ผิวหนังของเสือทุกตัวเพื่อให้แน่ใจว่าพวกมันจะไม่ต้องเข้าสู่การค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย · อส. แสวงหาการสนับสนุนทางเทคนิคและทางการเงินจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อสู่กับกระบวนการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ