กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดแผนการพัฒนา มธ. ศูนย์พัทยา สู่การเป็น "ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีแห่งอนาคต" เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคตะวันออกจับมือกลุ่มสยามกลการเปิด "อาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์" อาคารปฏิบัติการด้านวิศวกรรมยานยนต์ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย อันประกอบไปด้วยสื่อการเรียนการสอน อาทิ เครื่องตัดขึ้นรูปชิ้นงานที่นำไฟฟ้าด้วยการปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านเส้นลวด (CNC Wire cut Electrical Discharge Machine) เครื่องตัดโลหะที่ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องกัด 3 แกนแนวตั้ง (Vertical Matching Center) ฯลฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสาขาวิศวกรรมยานยนต์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เริ่มพัฒนาศูนย์พัทยา ในปี 2538 เพื่อให้เป็นศูนย์บริการทางวิชาการ ศูนย์วิจัยและพัฒนา และศูนย์การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดจนเป็นศูนย์ฝึกอบรมสัมมนา เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ ต่อมาในปี 2556 พื้นที่ในแถบภาคตะวันออก มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสูงโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะภาคการศึกษาที่มุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เป็นอีกกำลังสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจึงได้สร้างหลักสูตรการเรียนการสอนให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยการจัดทำโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ โดยได้ร่วมกับกลุ่มสยามกลการผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสันในประเทศไทยในการพัฒนาศูนย์ทดลองและวิจัยยานยนต์และสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งด้านการเรียนการสอนและอาคารสถานที่ พร้อมด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ได้การสนับสนุนสร้างอาคารหอพักนักศึกษาอีกด้วย เพื่อผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีศักยภาพเพียบพร้อมด้วยองค์ความรู้และทักษะวิชาชีพด้านยานยนต์ ตลอดจนทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่ชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก
ทั้งนี้ จากแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในอันดับที่ 10 ของโลก จากกำลังการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2558 ที่มีปริมาณ 1.9 ล้านคัน เพิ่มจากปี 2557 ร้อยละ 1.76 (ข้อมูลจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมให้มีศักยภาพ ยกระดับสู่การเป็นNext-Generation Automotive Industry โดยมีการพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการออกแบบและจัดทำต้นแบบ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง) จึงทำให้ตลาดยานยนต์ไทยจึงเป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังพบอุปสรรค ที่นอกเหนือจากเรื่องของทักษะและความเชี่ยวชาญ คือเรื่องของทักษะด้านภาษาซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เพียง 5 แสนคน (ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) ขณะที่จากการเติบโตของตลาดยานยนต์ในปัจจุบัน จะส่งผลให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวเป็นที่ต้องการเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา มธ. เปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยสามารถผลิตวิศวกรคุณภาพสู่สังคมรวมได้ปีละกว่า 700 คน รวมจำนวนกว่า 12,000 คน ซึ่งประกอบด้วยสาขาต่างๆ ได้แก่ วิศวกรรมโยธาและการบริหารการ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิศวกรรมทางการแพทย์ วิศวกรรมไฟฟ้าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์วิศวกรรมอุตสาหการวิศวกรรมเครื่องกล ฯลฯ ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านวิศวกรรมในระดับชั้นแนวหน้าของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าวทิ้งท้าย
รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ วังศกาญจน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ได้เปิดการเรียนการสอน "หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ" ณ มธ. ศูนย์พัทยา ใน 2 สาขา คือ สาขาวิศวกรรมยานยนต์ และวิศวกรรมซอฟแวร์ โดยการเรียนทั้ง 2 สาขา นักศึกษานอกจากการเรียนในภาคทฤษฎียังมีการฝึกปฏิบัติกับอุปกรณ์ที่ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ผ่านการเรียนโดยใช้อุปกรณ์และเครื่องจักรภายใน "อาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์" อาคารปฏิบัติการด้านวิศวกรรมยานยนต์ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรอันที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกลุ่มสยามกลการ โดยภายในอาคารประกอบด้วยสื่อการเรียนการสอน อาทิ เครื่องตัดขึ้นรูปชิ้นงานที่นำไฟฟ้าด้วยการปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านเส้นลวด (CNC Wire cut Electrical Discharge Machine) เครื่องตัดโลหะที่ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องกัด 3 แกนแนวตั้ง (Vertical Matching Center) เครื่องแปรรูป ชิ้นงานโลหะหรือวัสดุอื่นๆ โดยใช้เครื่องมือเจาะ และเซาะร่องในแนวดิ่ง ฯลฯ
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการเรียนภายในมหาวิทยาลัยแล้ว มธ. ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงมากยิ่งขึ้น ผ่านการฝึกงาน กับบริษัทชั้นนำด้านยานยนต์หรือห้องปฏิบัติงานวิจัยในบริเวณใกล้เคียง อาทิ สยามกลการ โคมัทสึ (Komatsu) เจซีบี แอนด์ เอสเอ็มเอ็ม สยามกลการอะไหล่ (JCB&SMM สยามกลการอะไหล่) มาห์เล สยาม ฟิลเตอร์ (Siam Mahle Filter) ฯลฯ รวมไปถึงการฝึกภาคสนาม (ภาคฝึกงานอาชีพ) และ Senior Project ซึ่งนักศึกษาใช้เวลาฝึกปฏิบัติภายใต้การควบคุมของอาจารย์ โดยการเรียนการสอนส่วนใหญ่นั้น โดย 75% ของเนื้อหาจะเป็นพื้นฐานความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกลและอีก 25% จะเป็นการเรียนวิชาเฉพาะทางวิศวกรรมยานยนต์ที่ครอบคลุมภาคทฤษฏี ภาคปฏิบัติ ทั้งในด้านการออกแบบและด้านการผลิต โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 จะได้เรียนวิชาพื้นฐานที่ศูนย์รังสิต และย้ายมาศึกษาต่อที่ศูนย์พัทยาในปีที่ 3 และ 4
ด้วยเล็งเห็นถึงความต้องการของบุคลากรด้านยานยนต์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการผลิตและออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ควบคู่ไปกับการสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ตลอดจนตอบโจทย์ตลาดแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ในระดับอาเซียนและระดับโลก มหาวิทยาลัยยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศจำนวนมากอาทิ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม สหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะงะโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น นักศึกษาจะมีโอกาสเข้าสู่โครงการแลกเปลี่ยนทำให้นักศึกษามีความพร้อมด้านภาษาและสามารถทำงานในต่างประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รักษาการฝ่ายบริหาร มธ.ศูนย์พัทยา ได้กล่าวต่อว่า มธ.มีแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา สู่การเป็น "ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีแห่งอนาคต" เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและภูมิภาคโดยรอบซึ่งภาคตะวันออกมีจุดยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมที่ดีที่สุดในประเทศ ในอนาคตจะมีเส้นทางเชื่อมต่อจำนวนมาก โดยโอกาสดังกล่าว มธ. ศูนย์พัทยา จะมีการพัฒนาโครงการและเครื่องมือ และศูนย์ทดลองด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก รวมมูลค่าลงทุนในอนาคตหลายพันล้านบาท โดยในอนาคตอันใกล้ ศูนย์พัทยา เตรียมแผนนำร่องลดใช้พลังงานไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยด้วยนวัตกรรมพลังงานสะอาด อย่าง โซล่าฟาร์ม (Solar Farm) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์รับพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ภายในอาคารเรียนทันที ซึ่งจะนับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่นำพลังงานทดแทนมาใช้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตั้งเป้าพร้อมใช้พลังงานดังกล่าวครบถ้วนทั่วทั้งมหาวิทยาลัย 100%
ด้าน ดร.พรเทพ พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มสยามกลการนับว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและยังคงดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2013 มีการลงนามความร่วมมือโครงการAUTO TU เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ภาคภาษาอังกฤษ โดยใช้งบ 68 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ให้เป็นศูนย์การผลิตบัณฑิตสาขาวิศวกรรมยานยนต์พื้นที่ชายฝั่งตะวันออก ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งใหม่ก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งในพื้นที่ชลบุรีและระยองนั้นมีการขยายตัวของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมสายสำคัญๆที่มุ่งตรงสู่ภาคตะวันออกมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเน้นแนวความคิดในการสร้างประโยชน์เพื่อคืนกลับสู่สังคม Work for The World : Care for the Community (รังสรรค์โลกให้พัฒนา ห่วงใยรักษาเพื่อชุมชน) อีกด้วย อย่างไรก็ดี ในอนาคต การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวิศวกรรมยานยนต์ในพื้นที่ภาคตะวันออก ถือเป็นการเสริมแกร่งศักยภาพและความพร้อมบุคลากรในการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของอาเซียนและระดับโลก
ทั้งนี้ อาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรธุรกิจ ได้แก่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการนิสสันพื้นที่ 126 ตารางเมตร มูลค่า 20 ล้านบาทพร้อมรถตู้เอนกประสงค์ 12 ที่นั่ง2 คัน รุ่น Nissan UrvanCNG & Nissan UrvanDeisel และ รถกระบะ Nissan Navara NP300 Double Cabจำนวน 1 คัน, บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด สนับสนุนเครื่องปรับอากาศ Daikin ติดตั้งในตัวอาคารปฏิบัติการและหอพักนักศึกษา จำนวน 87 เครื่อง มูลค่า 6 ล้านบาท, บริษัท บ๊อช ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัดสนับสนุนอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการมูลค่า 2 ล้านบาท, บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัดสนับสนุนเครื่องเสียง YamahaPA มูลค่า 440,000 บาทและ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนสร้างหอพักนักศึกษา BANGKOK BANK DORMITORY 2 หลัง 48 ห้อง มูลค่า 30ล้านบาท พร้อมห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์, ห้องปฏิบัติการต่างๆ อีกทั้งกลุ่มสยามกลการ ยังสนับสนุนทุนการศึกษา AUTO-TU 2 ปีที่ผ่านมา จำนวน 7 ทุนๆ ละ 150,000 บาทต่อปี ระยะเวลา 3 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 3,150,000 บาท และให้ต่อเนื่องทุกๆ ปี ดร.พรเทพกล่าวสรุป
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21"
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th