กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--กรมประมง
กรมประมง สรุปยอดผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่มายื่นคำขอรับใบอนุญาต ฯ (เบื้องต้น) จำนวนทั้งสิ้น 24,603 ราย โดยเป็นยอดรวม ณ เวลา 16.30 น.ของวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดให้ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ตามประกาศกรมประมง ลงวันที่ 26 เมษายน 2559 ทั้งนี้ ผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ สามารถใช้ใบรับคำขอฯ เป็นหลักฐานในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำสาธารณสมบัติไปพลางก่อน พร้อมแจ้งเตือนผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำสาธารณะที่ไม่ได้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ จะมีความผิดตามกฎหมายและมีโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทและปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่มีการฝ่าฝืน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงได้กล่าวว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 175 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กรมประมงได้ออกประกาศให้ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ก่อนวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 (วันที่พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้) มายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (เบื้องต้น) ในระหว่าง วันที่ 27 เมษายน ถึง 11 พฤษภาคม 2559 นั้น บัดนี้ กรมประมงได้สรุปยอดผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ รวมทั้งสิ้น 24,603 ราย โดยเป็นผู้เพาะเลี้ยงปลาในกระชัง จำนวน 17,594 ราย (ทั้งในเขตน้ำจืดและเขตทะเลชายฝั่ง) และเป็นผู้เลี้ยงหอยจำนวน 7,009 ราย ซึ่งกรมประมงขอขอบคุณ
ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ให้ความร่วมมือในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ โดยผู้ที่มายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ดังกล่าวนั้นจะได้รับใบรับคำขอใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (เบื้องต้น) ที่สามารถใช้เป็นเป็นหลักฐานในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำสาธารณสมบัติจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับคำสั่งไม่อนุญาต
ทั้งนี้ คำขอรับใบอนุญาตฯ ที่ยื่นมาทั้งหมด กรมประมงจะนำมาเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดพื้นที่ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป และเมื่อมีการกำหนดพื้นที่และแนวทางสำหรับการขอรับใบอนุญาตและการพิจารณาอนุญาตเพื่อให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 79 เรียบร้อยแล้ว กรมประมงจะได้ประกาศให้เกษตรกรมายื่นคำขอรับใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดต่อไป ซึ่งกรมประมง จะได้ประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำสาธารณสมบัติฯ ที่ไม่ได้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ภายในกำหนดวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 จะไม่สามารถทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำสาธารณสมบัติฯได้ หากฝ่าฝืนจะถือว่าเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำสาธารณสมบัติฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดและมีบทลงโทษตามมาตรา 149 คือ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่มีการฝ่าฝืน รวมทั้ง ต้องดำเนินการฟื้นฟูหรือชำระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูที่จับสัตว์น้ำหรือสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการให้กลับสู่สภาพตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ อธิบดีกรมประมงได้กล่าวย้ำว่า ใบรับคำขอใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (เบื้องต้น)ที่หน่วยงานกรมประมงออกให้เบื้องต้นนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ดังกล่าวได้รับการอนุญาตตามกฎหมายแล้ว ซึ่งการอนุญาตต่อไปนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ จำนวนการเลี้ยง และต้องเป็นพื้นที่ซึ่งคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด พิจารณาแล้วว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ตามชนิด ประเภท รูปแบบ หรือวัตถุประสงค์ของกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ทั่วประเทศ