กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
นักวิจัยคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา แปรรูปเปลือกมะละกอเป็นผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มรสกระเทียมพริกไทย ช่วยลดขยะ เพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือ เจาะตลาดร้านอาหารเนื้อย่างเกาหลี
ดร.ธิติมา พานิชย์ ประธานโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มรสกระเทียมพริกไทยจากเปลือกมะละกอว่า เป็นการทำงานร่วมกันของทีมผู้วิจัย ประกอบด้วย ดร.ธิติมา พานิชย์ น.ส.ลดาวัลย์ เป้าทอง และน.ส.ยมนา ล่าดั้ม นักศึกษาโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เนื่องจากเล็งเห็นว่าในการบริโภคมะละกอทั้งในระดับครัวเรือน ผู้ประกอบการรายย่อย หรือระดับอุตสาหกรรม จะมีวัสดุเศษเหลือซึ่งเป็นส่วนของเปลือกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้หากได้มีการนำส่วนของเปลือกมาใช้ประโยชน์ จะสามารถช่วยลดขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเศษเหลือได้ และจากการศึกษาพบว่าเปลือกมะละกอดิบยังคงมีกิจกรรมของเอนไซม์ปาเปน (papain) หลงเหลืออยู่ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาการผลิตผงหมักเนื้อนุ่มจากเปลือกมะละกอรสชาติกระเทียมพริกไทย เพราะเป็นรสชาติที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และผู้ประกอบการร้านอาหารเนื้อย่างเกาหลี ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการนำเปลือกมะละกอมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มในระดับอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตผงหมักเนื้อนุ่มรสชาติอื่นๆ ต่อไป
ดร.ธิติมา กล่าวว่า ที่ผ่านมามะละกอถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการทำให้เนื้อนุ่ม ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของเอนไซม์ปาเปนที่พบมากในยางมะละกอ จากส่วนของใบ ก้าน และผลดิบอีกด้วย ปาเปนเป็นเอนไซม์ที่มีความคงตัว ทนความร้อน และทนต่อสภาพกรดได้ดี จึงนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์ผงหมักหรือซอสหมักเนื้อนุ่ม โดยส่วนใหญ่จะใช้ในรูปเอนไซม์สกัดที่ได้จากยางมะละกอ ทว่า ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากเปลือกมะละกออย่างจริงจัง
อนึ่ง งานวิจัยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มรสกระเทียมพริกไทยจากเปลือกมะละกอ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดนวัตกรรมเกษตรและอาหาร จากการแข่งขันทักษะวิชาการเกษตรครั้งที่ 2 เครือข่ายคณะเกษตรศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 6