กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง การติดตามอ่านรัฐธรรมนูญของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 5,329
ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 13 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.2 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่มีเวลาอ่าน อ่านยาก ไม่รู้ว่าหาอ่านได้จากที่ไหน และไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง ในขณะที่ร้อยละ 35.7 เคยอ่านบ้าง และเพียงร้อยละ 6.1 เท่านั้นที่เคยอ่านอย่างละเอียด ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามว่า รู้ได้อย่างไรว่า รัฐธรรมนูญฉบับไหนดีหรือไม่ดี ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.5 ระบุ ฟังเขาว่ามา ติดตามจากสื่อ การพูดคุยกัน ในขณะที่เพียงร้อยละ 16.5 ระบุ อ่านด้วยตนเอง นอกจากนี้ คนทุกกลุ่มระดับรายได้ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย โดยกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยไม่เคยอ่านมากที่สุดซึ่งพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย คนรายได้ปานกลางร้อยละ 54.6 และคนรายได้สูงร้อยละ 52.4 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่จะทำให้ประชาชนตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.8 ระบุเป็นรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น รองลงมาคือร้อยละ 65.3 ระบุช่วยแก้ปัญหาทุจริต คอรัปชั่นได้ ร้อยละ 64.7 ช่วยปฏิรูปประเทศได้ และรองๆ ลงไปคือ ทำให้บ้านเมืองสงบ ไม่ขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เป็นต้น
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ไม่อ่านรัฐธรรมนูญ และตัดสินใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนดีหรือไม่ดี ใช้เกณฑ์ตัดสินจากการฟังเขาว่ามา โดยไม่ได้อ่านด้วยตนเอง จึงอาจตกเป็นเครื่องมือถูกชี้นำหรือปลุกปั่นในทางการเมืองได้ ดังนั้นแนวทางแก้ไขคือ ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลรัฐธรรมนูญได้ง่ายทั้งเว็บไซต์และการเปิดสายด่วนด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Hotline Answering Machine, HAM) ให้ประชาชนเลือกฟังเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญได้ด้วยตนเองในแต่ละมาตรา พร้อมเมนูแสดงความแตกต่างของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ทำให้ประชาชนเข้าถึงรัฐธรรมนูญได้ด้วยตนเองแทนการใช้เกณฑ์ "ฟังเขาว่ามา" ในการตัดสินใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร