กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
การแก้ปัญหาของชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ในอนาคต และปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การแก้ปัญหาชุมชนบรรลุผลนั้น เรื่องของ "ฐานข้อมูลสารสนเทศ" จึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเครื่องมือที่มีความเหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทันสมัย มีการใช้ระบบเทคโนโลยีไอทีเข้ามามีส่วนร่วม ส่งผลให้การวิเคราะห์ปัญหาที่นำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน เป็นไปอย่างได้ผล และมีความรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของแต่ละชุมชนได้ตรงจุด
กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนใช้ข้อมูลชุมชนมาวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แก้ไขปัญหาของชุมชนได้ตรงกับปัญหาบนพื้นฐานข้อมูลชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ได้คัดเลือก บ้านไผ่ หมู่ที่ 13 ตำบลไผ่ อำเภอรัตนบุรี เป็นหมู่บ้านสารสนเทศต้นแบบระดับจังหวัด ร่วมกันกับส่วนราชการท้องถิ่นในการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้าน
"บ้านไผ่ จังหวัดสุรินทร์" เป็นหมู่บ้านต้นแบบแห่งการแก้ปัญหาและพัฒนาโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เน้นให้ชุมชน มีส่วนร่วมและเรียนรู้ข้อมูล ร่วมกันจัดทำสารสนเทศชุมชนหลากหลายรูปแบบ นำไปใช้บริหารจัดการชุมชนผ่านกระบวนการวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน มีระบบการบำรุงรักษาระบบ เผยแพร่และให้บริการสาธารณชน บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต ถือเป็นหมู่บ้านที่มีความพร้อมเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชน ทั้งในด้านสถานที่และอุปกรณ์ ICT มีการจัดตั้งตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน มีคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ มีบุคลากรที่มีความรู้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นอย่างดี ผู้นำของชุมชนและคนในชุมชนเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากระบบ ICT ร่วมกับส่วนราชการและภาคีเพื่อพัฒนาหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง เป็นหมู่บ้านแกนหลักดำเนินกิจกรรมกองทุนสวัสดิการชุมชนของตำบลไผ่ สร้างทีมและมุ่งการพัฒนาเยาวชน
ในด้าน ข้อมูล (DATA) ได้มีการรวบรวมข้อมูลของชุมชนที่มีอยู่แล้วอย่างกระจายมาจัดการให้เป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ระบบสารสนเทศได้ ประกอบด้วย ระบบฐานข้อมูลคุ้ม ระบบฐานข้อมูลครัวเรือน ระบบฐานข้อมูลถนนในหมู่บ้าน ระบบฐานข้อมูล ทุนสังคม ระบบฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ความพร้อมของเครื่องมือ (TOOL) ออกแบบเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมนำระบบ ICT มาใช้ในการจัดการระบบฐานข้อมูลทุกฐาน มีการใช้ โปรแกรม Microsoft Excel ในการจัดการข้อมูลที่มีอยู่แล้วให้สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ (แผนที่) ด้วยรหัสการเชื่อมฐานข้อมูลที่กำหนดขึ้น โปรแกรม Application on Web ในการจัดการข้อมูลให้เป็นสารสนเทศในรูปแบบการนำเสนอเป็นตาราง กราฟ ผ่านเว็บไซต์ โปรแกรมบันทึกข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในการบันทึกข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านเว็บไซต์ ให้เชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงพื้นที่ (แผนที่) ของ Google Map โปรแกรม Google Map ในการบันทึกพิกัดข้อมูลเชิงพื้นที่ นำเสนอและสืบค้นข้อมูลและสารสนเทศในเชิงพื้นที่ (แผนที่) ในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพื้นที่เป็นสารสนเทศในลักษณะแผนที่ข้อมูล ในรูปแบบอิเลกทรอนิกส์และเอกสาร แผนที่
หากกล่าวโดยรวมจะเห็นว่า การจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีการออกแบบเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลคุณภาพชีวิต ในด้านต่างๆได้อย่างเหมาะสมและครบถ้วน รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูลคุณภาพชีวิต ที่ออกแบบและเขียนโปรแกรมบันทึกข้อมูลด้วนระบบคอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสม ให้สามารถบันทึกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และเชื่อมโยงกับโปรแกรม Google Map ให้วิเคราะห์ แสดงผลข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ได้ มีการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลคุณภาพชีวิตโดยกลุ่มเยาวชนคลื่นลูกใหม่ทิวไผ่งาม
จนถึง ณ วันนี้ชุมชนบ้านไผ่มีผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้น มีอาชีพเสริมเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยครัวเรือนละ 1,625 บาท/เดือน มีการจัดทำทะเบียนข้อมูลกลุ่มองค์กรชุมชน รวม 24กลุ่ม มีทุนหมุนเวียนรวมประมาณ 14.6 ล้านบาท มีกลุ่ม/องค์กรในชุมชนที่เข้มแข็ง 10 กลุ่ม ต้องได้รับการพัฒนา 14 กลุ่ม มีแผนชุมชน ฉบับปรับปรุงปี 2558 (แผนปี 2559 - 2561) ปรับปรุงจากสารสนเทศชุมชนรวมมากกว่า 40 โครงการ เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญข้อมูลสารสนเทศ
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ผู้นำชุมชนมีความพร้อมในด้านวิสัยทัศน์ คนในชุมชนที่เปิดใจร่วมกันในการรับเอาผลการวิเคราะห์สารสนเทศมาใช้พิจารณาแก้ไขปัญหาการออกแบบระบบฐานข้อมูลหลักของชุมชนที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลอื่นๆได้และปัจจัยด้านอื่นๆจนกระทั่งเป็นรูปธรรมขึ้นมา อย่างมีประสิทธิภาพ