กทม. หามาตรการผ่อนคลายก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ผ่านข้อบัญญัติควบคุมอาคารพื้นที่ฝั่งตะวันออก

ข่าวทั่วไป Wednesday April 4, 2001 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--กทม.
นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง (สผม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ในบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. โดยเฉพาะในพื้นที่เขตมีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมที่ห้ามการก่อสร้างอาคารไว้หลายประเภท มีการตรวจพบอาคารซึ่งปลูกสร้างในลักษณะจงใจหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายเดิมเป็นจำนวนมากนั้น ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวอาจเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวมีมาตรการหลายอย่างที่ไปริดรอนสิทธิของประชาชน เช่น การอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารได้เฉพาะอาคารหรือสถานที่ทำการของราชการ และอาคารอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวเท่านั้น
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ กทม.จึงหาวิธีผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวด้วยการออกข้อบัญญัติ กทม. เรื่องกำหนดห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในท้องที่ เขตมีนบุรี แขวงคลองสิบ แขวงคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก และแขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิว แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.44 แทนข้อบัญญัติฉบับเดิมที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2525 โดยนอกจากจะอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารหรือสถานที่ทำการของราชการ และอาคารอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวแล้ว ยังอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารที่ใช้เพื่อสาธารณูปโภค สถานศึกษา หรือสถานพยาบาล อาคารพาณิชย์ หรือ อาคารพาณิชย์พักอาศัย ประเภทบ้านเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน 15 เมตร และมีพื้นที่ประกอบการพาณิชย์รวมกันไม่เกิน 100 ตร.ม. ซึ่งไม่ใช่ห้องแถวหรือตึกแถวได้ด้วย แต่ทั้งนี้ต้องเว้นระยะห่างระหว่างอาคารไม่น้อยกว่า 2 ม. และมีระยะห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 1 ม. มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นต่อพื้นที่ดินของอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างขึ้นในที่ดินแปลงเดียวกันไม่เกิน 3 ต่อ 1 ให้มีที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ และอาคารที่ก่อสร้างบริเวณริมสองฝั่งคลองต้องมีที่ว่างตามแนวขนานริมฝั่งคลองไม่น้อยกว่า 6 เมตร
วัตถุประสงค์ของการออกข้อบัญญัติฉบับนี้ ก็เพื่อเป็นการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ของกฎหมายเดิมที่อาจไปริดรอนสิทธิบางอย่างของประชาชน เช่น การห้ามประกอบการพาณิชย์ และการตั้งสถานศึกษา หรือสถานพยาบาลของเอกชน นอกจากนี้ยังเป็นการปรับเนื้อหาของข้อบัญญัติให้ตรงกับของกฎกระทรวงผังเมืองรวม กทม. ที่อนุญาตให้มีการประกอบการพาณิชย์ได้ในบริเวณดังกล่าว แต่ห้ามมีพื้นที่ประกอบการเกิน 100 ตร.ม. ส่วนการที่ต้องกำหนดให้มีพื้นที่ว่างของที่ดินแต่ละแปลง ระยะห่างระหว่างอาคาร และพื้นที่ว่างริมฝั่งคลองไม่น้อยกว่า 6 ม. นั้น ก็เพื่อกันพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่โล่ง เพื่อเป็นทางระบายน้ำ ใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. และสงวนรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ