ปตท.แถลงผลประกอบการ ปี 2543

ข่าวทั่วไป Monday March 12, 2001 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ปตท.
นายวิเศษ จูภิบาล ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) แถลงผลประกอบการของ ปตท. ในปี 2543 ที่ผ่านมาว่า โดยทั่วไปการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม มีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นว่าในปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่สองของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การใช้ปิโตรเลียมของประเทศลดลงถึง 6.4% (น้ำมันลดลงถึง 10% แต่การใช้ก๊าซธรรมชาติ ขยายตัว 5%) สำหรับปี 2543 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวคือมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)อยู่ที่ประมาณ 4.5% การใช้พลังงานปิโตรเลียมปรับตัวกระเตื้องขึ้น 1% (การใช้น้ำมันลดลง 4.5% แต่ก๊าซธรรมชาติยังคงเพิ่มขึ้น14.7%) ขณะเดียวกันค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีได้อ่อนตัวลงมาจาก 37 มาอยู่ที่ 40.2 ฿/US$ ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันก็ปรับสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำมันดิบดูไบซึ่งไทยนำเข้ามากที่สุดมีราคาเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 54% ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในตลาดโลกสูงขึ้นด้วย ซึ่งสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการดำเนินงานของ ปตท.ในภาพรวมทั้งสิ้น
การดำเนินงานของ ปตท. ซึ่งประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจอินเตอร์เนชั่นแนล และธุรกิจก๊าซธรรมชาติ นั้น ในปีที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้และยังเป็นหน่วยงานหลักในการนำเงินส่งรัฐเพื่อช่วยพัฒนาประเทศด้วย แม้ว่าในส่วนของธุรกิจน้ำมันแทบจะไม่มีกำไร เนื่องจากการใช้นโยบายชะลอราคาขายปลีกในประเทศเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ในธุรกิจอินเตอร์ สามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ที่ราคาตลาดโลกสูงขึ้นนำรายได้เข้าประเทศ ส่วนธุรกิจก๊าซฯ ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศจากการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้าเพิ่มปริมาณการใช้ก๊าซฯเพื่อทดแทนน้ำมันที่มีราคาแพงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศ และลดภาระการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาแพงได้อีกด้วย ทั้งนี้ผลงานหลักๆของแต่ละธุรกิจมีดังนี้
ผลการดำเนินงานที่สำคัญของ ธุรกิจน้ำมัน ปี 2543 ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งติดต่อมาเป็นปีที่ 8 คือ 28.1% เพิ่มขึ้น 0.6% โดยมียอดจำหน่าย(ไม่รวมน้ำมันเตากฟผ.) ประมาณ 9,200 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 1.4% และจากการใช้นโยบายชะลอราคาขายปลีก เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชนจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ย 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ลดลงเหลือ 0.71บาท/ลิตร ลดลงจากปีก่อน 10% ซึ่งค่าการตลาดนี้ เป็นส่วนต่างของราคาขายกับต้นทุนน้ำมัน ไม่ใช่กำไรสุทธิ ที่ยังไม่ได้หักค่าดำเนินงานต่างๆทั้งในส่วนของปตท.และสถานีบริการ เช่น ค่าขนส่ง ต้นทุนการเก็บสำรอง ค่าจ้างแรงงาน ต้นทุนสถานีบริการ และอุปกรณ์ต่างๆ และค่าการตลาดจำนวน 0.71 บาท/ลิตรนี้ ปตท.จะต้องจัดสรรให้สถานีบริการน้ำมันประมาณ 0.50 บาท/ลิตร ทั้งนี้จะเห็นว่าค่าการตลาดเฉลี่ยดังกล่าวไม่คุ้มกับค่าดำเนินการต่างๆ
ส่วนธุรกิจอินเตอร์ฯ ปีที่ผ่านมา สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมัน และปิโตรเคมี ที่เป็นส่วนเกินไปจำหน่ายยังประเทศในภูมิภาคเอเซีย และทำการค้าน้ำมันระหว่างประเทศเป็นมูลค่าถึงกว่า 44,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71% ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อรายได้ และกำไรของ ปตท.แล้ว ยังช่วยให้ดุลการค้าของประเทศดีขึ้นด้วยเพราะเป็นการนำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ
สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มียอดจำหน่ายก๊าซฯประมาณวันละ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือเทียบเท่าน้ำมันดิบประมาณวันละ 56 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 14.7% โดยส่วนใหญ่คือประมาณ 80% เป็นการนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแทนน้ำมันเตา ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เป็นมูลค่า 16,500 ล้านบาทต่อปี โดยในปีที่ผ่านมาราคาก๊าซฯเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 24% (รวมทุกแหล่ง) ส่วนน้ำมันเตาราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 54% อย่างไรก็ดีราคาก๊าซฯหรือน้ำมันเตาที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มตามต้นทุนที่แท้จริง แต่ในส่วนลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ปตท.ได้ใช้นโยบายตรึงราคาก๊าซฯตลอดปี ต่อเนื่องมาจากปลายปี 2542 โดยยอมรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วน นอกจากนี้ในช่วงปลายปี ปตท.ยังได้เริ่มโครงการแท็กซี่อาสาสมัครใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV จำนวน 1,100 คัน เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในรถยนต์ ซึ่งหากมีการใช้อย่างแพร่หลายเหมือนในต่างประเทศ จะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงทั้งของส่วนบุคคล และของชาติ รวมถึงลดมลภาวะในอากาศได้อย่างมหาศาล
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจก๊าซฯ ยังดำเนินธุรกิจโดยเน้นความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลัก โดยได้ดำเนินการปรับปรุงระบบเพื่อให้ลูกค้าได้รับก๊าซฯ ที่มีคุณภาพเดียวกัน ส่วนการรับภาระ Take-or-Pay ก๊าซฯ จากสหภาพพม่านั้น ปตท.ได้ลงนามสัญญาซื้อ-ขายก๊าซฯ กับ กฟผ. เพื่อส่งก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้าราชบุรี และมีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาภาระ Take-or-Pay เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งธุรกิจก๊าซฯ ได้เร่งรัดการก่อสร้างระบบท่อราชบุรี-วังน้อยให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2543 และสามารถส่งก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้าวังน้อยได้ประมาณวันละ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุต เมื่อรวมกับก๊าซฯที่ส่งให้โรงไฟฟ้าราชบุรีแล้ว ทำให้สามารถรับก๊าซฯ จากสหภาพพม่าได้เพิ่มขึ้นถึงระดับที่ใกล้เคียงกับปริมาณตามสัญญา ส่วนธุรกิจแยกก๊าซฯ นั้น ได้เดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพ คือ โรงแยกก๊าซฯ ทั้ง 3 แห่งที่ระยองสามารถเดินเครื่องได้ประมาณร้อยละ 98 ของกำลังการผลิต ส่วนโรงแยกก๊าซฯ ขนอมนั้นสามารถเดินเครื่องได้เพียงร้อยละ 72 ของกำลังการผลิต (เกิดจากโรงไฟฟ้าที่ขนอมไม่สามารถรับก๊าซฯ ได้มากกว่าปริมาณที่ส่งให้ในขณะนี้) โดยโรงแยกก๊าซฯ ทั้ง 4 แห่งนี้สามารถผลิตก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ได้ทั้งปีประมาณ 1.25 ล้านตัน เพื่อใช้ภายในประเทศพร้อมทั้งส่งออก และบางส่วนส่งเป็นวัตถุดิบให้กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นายวิเศษ จูภิบาล ยังเน้นถึง องค์ประกอบสำคัญอีก 2 ประการที่มีผลอย่างมากต่อผลประกอบการของ ปตท คือ การบริหารองค์กร และการบริหารการเงิน ในประเด็นการบริหารองค์กรนั้น ปตท. ได้นำนโยบาย”เพิ่มคุณภาพทั่วทั้งองค์กร”(TQM) มาใช้ ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดค่าใช้จ่ายต่างๆได้อย่างมาก อาทิ โครงการลด oil loss ของคลังน้ำมัน การควบคุมระดับการสำรองผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม ฯลฯทำให้ลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจน้ำมันได้ 570 ล้านบาท และโครงการประหยัดในธุรกิจก๊าซฯทั้งระบบ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 470 ล้านบาท ส่วนการบริหารการเงิน ปตท.ใช้วิธีปรับโครงสร้างเงินกู้ด้วยการ Refinance และการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน(FX)เพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการเข้าเร่งรัดเจรจาต่อรองเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทในเครือ ซึ่งสามารถลดรายจ่ายจากภาระดอกเบี้ย และผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ได้เกือบ 3,000 ล้านบาทผู้ว่าการ ปตท.แถลงว่า จาก 3 องค์ประกอบหลัก คือ การดำเนินธุรกิจ การบริหารองค์กร และบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการโดยรวมของ ปตท. เป็นที่น่าพอใจ คือ มีรายได้จากการขายรวมประมาณ 364,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60 % และเมื่อหักรายจ่ายที่มีการบริหารต้นทุนต่ำสุดแล้ว ทำให้มีกำไรประมาณ 13,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อยอดขาย 3.7 %(ปี 2542 มีกำไรต่อยอดขาย 4.2 %) โดยกำไรที่ได้นี้จะต้องนำส่งเป็นรายได้รัฐประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ส่วนที่เหลือประมาณ 8,000 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นส่วนของทุนในโครงการต่างๆตามแผนการลงทุนปี 2544
สำหรับการลงทุนในปี 2544 นี้ ปตท.ได้มีการปรับลด และชะลอแผนงานลงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และความจำเป็นของประเทศด้านพลังงาน โดยจะเน้นโครงการที่มีส่วนช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคตระยะยาว ได้แก่ การลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 3,800 ล้านบาท และธุรกิจน้ำมัน 3,300 ล้านบาท อาทิ โครงการท่อส่งก๊าซฯ รอบกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนการใช้ก๊าซฯแทนน้ำมันในโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้ก๊าซ NGV ในรถยนต์ โครงการก่อสร้างสถานีเติม NGV โครงการท่อส่งน้ำมันสนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนเพิ่มทุนในบริษัทในเครืออีกประมาณ 7,000 ล้านบาท อาทิ บ.โรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด บ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด และบ. อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) เป็นต้น
นอกจากการประกอบธุรกิจแล้ว ปตท.ยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ปตท.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งโครงการประกอบด้วยการปลูกกล้าไม้ การดูแลบำรุงรักษา และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนรอบพื้นที่ปลูกป่าในรูปหมู่บ้าน ปตท.พัฒนา จนถึงปัจจุบัน สามารถปลูกป่าไปแล้วกว่า 800,000 ไร่ และจัดตั้งหมู่บ้าน ปตท.พัฒนาจำนวน 171 แห่ง โดยปี2544 ปตท.มีแผนจะปลูกป่าอีก 85,000 ไร่ และจัดตั้งหมู่บ้าน ปตท.พัฒนาเพิ่มอีก 20 แห่ง พร้อมกับเร่งส่งเสริมหมู่บ้าน เดิมทั้ง 171 แห่งให้มีความเข็มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตลอดไป--จบ--
-สส-

แท็ก ปตท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ